โจทย์ท้าทายจุดเริ่มต้น-จุดสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล

by Chetbakers

การที่โลกจะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 43% ในปี 2573 เพื่อคุมอุณหภูมิไว้ที่ 1.5°C ยังไม่เป็นไปตามความตกลงปารีส เพราะหลายอุตสาหกรรมยังปรับได้ช้า

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 เมื่อปี 2566 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้บรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล” (Transition away from fossil fuel) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (°C) เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญภายใต้ข้อตกลงนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเป็นสามเท่าทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573 และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 (1)

การตั้งเป้า Triple UP, Double Down หรือการเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาดให้ได้สามเท่าและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานให้ดีขึ้นสองเท่าที่ว่า จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศที่ไม่มีคนและเทคโนโลยีพร้อม จะให้เลิกใช้ฟอสซิลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการประชุม COP29 จึงจะมีการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ชนพื้นเมือง เยาวชน กลุ่มคนในพื้นที่ขัดแย้ง หรือกลุ่มอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม (A Just and Equitable Energy Transition) ซึ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยอมรับว่ายังไงก็ไม่สามารถออกจากฟอสซิลได้ คำว่า Transition ของเขาคือ ลด ละ แต่ไม่เลิก แค่จะไม่เสพติดพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป (2)

การประชุม COP28 ได้ปิดฉากพร้อมกับข้อตกลงที่ส่งสัญญาณถึง “จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด” ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม

ทำให้การประชุม COP29 ทั่วโลกจับตามองกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น แต่ทว่าอุตสาหกรรมพลังงานโลกยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในขณะนั้นประธาน COP28 จึงได้ริเริ่มโครงการ “Energy Transition Changemakers” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยมลพิษที่มีนวัตกรรมและขยายผลได้ทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยสนับสนุน และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (3)

บริษัทและองค์กรทุกขนาดจากทั่วโลกสามารถสมัครเข้าร่วมได้ โดยโครงการทุกประเภทในสี่ภาคส่วนสำคัญมีสิทธิ์จะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน การบูรณาการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และภาคการปล่อยก๊าซหนัก เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และอลูมิเนียม ทว่าในหลายประเทศยังมีแหล่งพลังงานหลักมาจากฟอสซิล (3)

การประชุม COP28 ได้ปิดฉากพร้อมกับข้อตกลงที่ส่งสัญญาณถึง “จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด” ยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม สนับสนุนด้วยการลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจังและการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น ในสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระดับโลกจากผู้แทนเกือบ 200 ประเทศที่ไปรวมตัวกันที่ดูไบ และมีมติร่วมกันเกี่ยวกับ “การทบทวนระดับโลก” เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มระดับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาขีดจำกัดอุณหภูมิโลกที่ไม่เกิน 1.5°C (4)

การทบทวนระดับโลก (Global Stocktake) ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญของ COP28 เนื่องจากครอบคลุมองค์ประกอบทุกด้านที่อยู่ระหว่างการเจรจา และจะถูกนำไปใช้โดยประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งมีกำหนดส่งภายในปี 2568 การทบทวนดังกล่าวยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 43% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C ซึ่งจะว่าไปในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายความตกลงปารีสได้ (4)

การทบทวนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการระดับโลกเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้สามเท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2573 รวมถึงเร่งลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อลดมลพิษหรือจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในลักษณะที่เป็นธรรม มีระเบียบ และเท่าเทียม ประเทศพัฒนาแล้วยังคงต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการ (4)

ในระยะสั้น มีการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เสนอเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ทุกภาคส่วน และทุกประเภท พร้อมทั้งสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5°C ในแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศรอบถัดไป (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC) ซึ่งจะต้องยื่นภายในปี 2568 (4)

ทว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก อาทิ รัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (5)

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความต้องการพลังงานโลกที่ยังคงสูงและยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลดพลังงานฟอสซิลเป็นเรื่องท้าทาย แม้ว่าโลกจะมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วในบางภาคส่วน เช่น การผลิตไฟฟ้าและยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า แต่ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ช้ากว่าที่คาดไว้ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ การขนส่งทางเรือ และการบิน การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิลทั้งหมด ส่งผลให้การลดก๊าซเรือนกระจกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการขาดกฎระเบียบที่ชัดเจนและการลงทุนที่ต่อเนื่องทั่วโลก นอกจากนี้ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงยังสูงมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตโดยไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (6)

ดังนั้น ความสำคัญอยู่ที่การสร้างนโยบายที่มั่นคงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่อาจช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในอนาคต (6)

การที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนฟอสซิลได้เต็มรูปแบบนั้น เป็นเหตุผลที่หลายประเทศยังต้องคงการใช้พลังงานฟอสซิลไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศพยายามหาทางออกเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมต่อประเทศที่ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานเหล่านี้ (7)

อย่างไรก็ดี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เชื่อว่าในระยะยาวการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเป็นไปได้ หากทุกประเทศมีการวางแผนที่ดีด้านนโยบายและได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลดการพึ่งพาน้ำมันและการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตพลังงาน (8)

ท้ายที่สุดนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไม่ใช่แค่การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวางแผนระบบพลังงานที่สมดุลและตอบโจทย์การใช้พลังงานที่ยังมีอยู่ การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เมื่อความท้าทายการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังคงอยู่ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกที่ผ่านมานี้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างการพูดคุยระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการใช้พลังงานให้เกิดความเป็นธรรม และไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

อ้างอิง:
(1)https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65644
(2) https://www.igreenstory.co/middle-east/
(3) https://www.cop28.com/en/energy-transition-changemakers
(4) https://unfccc.int/news/cop28-agreement-signals-beginning-of-the-end-of-the-fossil-fuel-era
(5) https://carnegieendowment.org/research/2024/11/russias-great-energy-game-in-the-middle-east?lang=en
(6) https://www.weforum.org/stories/2024/08/speed-fossil-fuel-transition-climate-energy/
(7) https://www.dnv.com/news/energy-transition-outlook-renewables-still-not-replacing-fossil-fuels-in-the-global-energy-mix-247880/
(8) https://www.iea.org/news/the-energy-world-is-set-to-change-significantly-by-2030-based-on-today-s-policy-settings-alone

Copyright @2021 – All Right Reserved.