เครื่องเกมคอนโซล
ฟันเฟืองโลกร้อนที่ไม่ควรมองข้าม
เห็นเล็กๆ แต่พลาญพลังงานไม่น้อย

by Admin

น้อยคนที่จะคิดถึงรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) กับสิ่งของเครื่องใช้ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น iPhone 14 หนึ่งเครื่องสร้างคาร์บอนประมาณ 61 กก.ตลอดอายุการใช้งาน เทียบเท่าขับรถจากกรุงเทพ-ปราณบุรี เช่นเดียวกับหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันเรา ตั้งแต่ข้าวเหนียวหมูปิ้งไปจนถึงรถยนต์ ทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่ายต่อสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น

การเล่นเกมผ่านเครื่องเกมคอนโซลเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน ถึงแม้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าจากการเล่นเกมต่อชั่วโมงนั้นไม่มาก แต่ถ้าเล่นต่อเนื่องก็ใช้พลังงานมิใช่น้อย

60 ปี หลังเปิดตัวเครื่องเกมคอนโซล หรือที่เราเรียกในยุคแรกๆ ว่า ‘วิดีโอเกม’ ด้วยเกมตีเทนนิส ธุรกิจนี้ก็เติบโตขึ้นจนมีมูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท และเติบโตมาพร้อมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตตัวคอนโซล (ตัวเครื่องเล่น) คาร์ทริดจ์ (ตลับเกม) และแผ่นดิสก์ จำนวนหลายล้านชิ้นและจัดส่งไปทั่วโลก รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ที่ผลิตจากแร่โลหะ เช่น โคลแทน และนิกเกิล

การวิจัยในปี 2019 ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า การผลิต PlayStation 4 หนึ่งเครื่อง และจัดส่งจากประเทศจีนไปยังสหราชอาณาจักรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 89 กิโลกรัม ซึ่งนับรวมตั้งแต่การทำเหมืองโลหะไปจนถึงการผลิต และการขนส่งทางเรือ

เมื่อสินค้าถึงมือผู้รับรูปแบบการปล่อยคาร์บอนฯ จะเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในการเล่น โดยในปี 2019 วารสารวิชาการของอเมริกาประเมินว่าผู้เล่นเกมชาวอเมริกันใช้ไฟฟ้าร่วมกันมากถึง 34 เทราวัตต์ชั่วโมง/ปี ซึ่งมากกว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศผลิตได้ในหนึ่งปี

การศึกษาเดียวกันพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเกมในสหรัฐทั้งหมดปล่อยคาร์บอนฯ 24 เมกะตัน/ปี โดยยังไม่นับรวมปลายทางวิดีโอเกมที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมีเพียงสหภาพยุโรปและ 6 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฮาวาย โอเรกอน เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน) เท่านั้นที่กำหนดให้ผู้ผลิตคอนโซลเกมต้องจำกัดการใช้พลังงานเป็นอย่างน้อยเมื่ออุปกรณ์ไม่ได้ใช้งาน โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

Xbox หนึ่งในแบรนด์คอนโซลเกมของ Microsoft รับโจทย์นี้และกำลังสำรวจวิธีจำกัดพลังงานไฟฟ้าผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์

ขณะที่กลุ่มบริษัท Nintendo กล่าวว่าคอนโซลเกมรุ่น Switch ในปัจจุบันใช้พลังงานเพียงครึ่งหนึ่งของรุ่นที่เปิดตัวในปี 2017 และ Sony Interactive Entertainment กล่าวว่า PlayStation 5 รุ่นล่าสุดก็ใช้พลังงานน้อยกว่า PS4 ถึง 17%

“เห็นได้ชัดว่าพวกเขาใช้เวลาด้านวิศวกรรมมากมายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวมของระบบ” เบ็น อับราฮัม นักวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเกมตั้งข้อสังเกต “แต่พวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้หรือยัง”

แม้เครื่องเล่นเกมแบบคอนโซลจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศต่ำกว่า การผลิตกระแสไฟฟ้า การบิน หรือการใช้รถยนต์ แต่ก็มิอาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ปรับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

แนวโน้มการเล่นเกมในยุคต่อไปมีความท้าทายมากขึ้น เพราะบริษัทคอนโซลเกมต่างให้ความสำคัญกับกราฟิกที่สมจริงมากขึ้น และการเล่นเกมแบบที่โต้ตอบ (Interactive) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะต้องใช้พลังการในการประมวลผลมากขึ้น และนำไปสู่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้นอีก

แปลและเรียบเรียงจาก
Dec17,2022, “There’s a Small But Growing Push to Make Video Gaming Greener.” Bloomberg
Dec17,2022, “A small but growing movement to make video gaming greener.” The Japan Time

Copyright @2021 – All Right Reserved.