สำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567 ‘โลกร้อน’ ติดอันดับ 1 ในใจคนไทย

by Pom Pom

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผยผลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปี 2567 พบว่า “โลกร้อน” คือภัยคุกคามอันดับหนึ่งในสายตาคนไทย ตามมาด้วยปัญหาขยะ และ มลพิษ ในกรุงเทพมหานคร

“โลกร้อน” (Global Warming) กำลังเป็นเรื่องที่มวลมนุษยชาติ เริ่มตระหนักให้ความสำคัญ เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพภูมิอากาศ แปรปรวนขึ้น ทั้งการเผชิญกับคลื่นความร้อน, พายุที่มีความรุนแรงทวีคูณ และการเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ปัญหานี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ทำโพลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่คนไทยให้ความสำคัญในปี 2567 พบว่า ปัญหาโลกร้อน คนไทยห่วงเป็นอันดับแรก

  • อันดับ 1 ปัญหาโลกร้อน (20.3 %)

หลายคนให้เหตุผลว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา เช่น การแปรปรวนสภาพอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ภัยแล้งในบางพื้นที่ การสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อแหล่งอาหารการเกษตรและสุขภาพของมนุษย์

  • อันดับ 2 ปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่ถูกต้อง (19.1%)

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองว่า ขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นถึง 28-29 ล้านตันต่อปี หากการบริหารจัดการขยะไม่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขอนามัย สุขภาพเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย รวมทั้งมองว่า ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานยังไม่สามารถจัดการได้อย่างถูกต้อง เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง

  • อันดับ 3 คือ  ปัญหาPM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (13.1%)

จากผลสำรวจให้เหตุผลส่วนใหญ่ว่าปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่ได้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพคนในเมืองระยะยาว ดังนั้น ควรเร่งรัดแก้ไขที่ทำได้เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่แหล่งกำเนิดต่างๆ

  • อันดับ 4 ประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (8.2%) 

โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นดัชนีชี้วัดระบบนิเวศที่สำคัญ การสะท้อนความอุดมสมบูรณ์

ขณะที่ผลสำรวจคนไทยมองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกประเด็น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขก็จะส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ผลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อม ปี 2567

นอกจากนี้ TEI ยังได้สำรวจเหตุการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ ในปี 2567 ที่คนให้ความสำคัญ พบว่า เป็นเรื่องกากแคดเมียม 15,000 ตันในโรงงานสมุทรสาคร ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ขยะพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล ที่มาเป็นอันดับ 5 (ประเด็นละ 7.4%) ถัดมาคือ สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย (5.3%) ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์รุกล้ำน้ำน่านไทย (5.7%) พะยูนตายที่จังหวัดตรัง 2.5% และกากสารเคมีและไฟไหม้โรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (1.6%)

ทั้งนี้ ผลสำรวจในครั้งนี้ ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ดำเนินการสำรวจผ่านทางออนไลน์ ในช่องทางโซเชียลมีเดียของสถาบันและผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ แก่ภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานร่วมกันมา

โลกร้อนในประเทศไทย กับผลกระทบที่เกิดขึ้น

  • ภัยแล้งในภาคอีสาน

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีผลผลิตทางเศรษฐกิจสูง ทั้งนี้เมื่อเกิดฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำในการเกษตร พืชผลเสียหาย ขาดรายได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

  • น้ำท่วมในภาคกลาง ภาคใต้

ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรเสียหาย

  • พายุรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พายุฤดูร้อน ลูกเห็บตกหนัก สร้างความเสียหายให้ชุมชน

  • ปัญหาน้ำเค็มรุกในภาคตะวันออก

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่แหล่งน้ำจืด กระทบต่อการเกษตร ทำลายระบบนิเวศ

  • ปะการังตายในทะเลอันดามัน

เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ปะการังฟอกขาวและตาย ระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย กระทบต่อสัตว์ทะเลในวงกว้าง

  • โรคไข้เลือดออกระบาด

สภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของยุงลาย โรคไข้เลือดออกระบาดในวงกว้าง เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม โลกร้อน ไม่ใช่แค่ปัญหาที่ต้องแก้ไขในอนาคต แต่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขในปัจจุบัน เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากโลกร้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สินค้าที่ยั่งยืน, ลดการบริโภคพลังงาน, หรือการสนับสนุนนโยบายและการกระทำที่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม อนาคตของโลกอยู่ในมือของเราทุกคน

Copyright @2021 – All Right Reserved.