ครูตี๋ – นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
นักสู้แห่งลุ่มน้ำโขงจากเชียงราย
ตัวแทนเอเชียรับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก

by Admin

“ครูตี๋” – นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักสู้แห่งลุ่มน้ำโขงจากเชียงของ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 เข้ารับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize 2565” ในฐานะตัวแทนจากทวีปเอเชีย

โดยพิธีมอบรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environmental Prize ) ประจำปี 2565 จัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค. 2565 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ไปทั่วโลก https://www.youtube.com/watch?v=-_f0J4P_87A

นิวัฒน์ ผันตัวจากข้าราชการครูมาทำงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อปี 2539 เพราะให้ความสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด ด้วยแรงบันดาลใจอันแรงกล้านี้จึงได้ก่อกำเนิด “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” ที่ค่อย ๆ ยกระดับอาคารเรือนไม้เล็ก ๆ ขึ้นเป็นแหล่งสื่อสารองค์ความรู้ฉบับท้องถิ่นสำหรับทุกคนที่สนใจงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งมีผู้คนทุกเพศทุกวัยทั้งไทยและเทศเดินทางมาเยี่ยมเยือนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้

“ครูตี๋” เป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังจากร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของคัดค้านโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในช่วงปี 2543 ซึ่งเป็นโครงการที่จีนต้องการเปลี่ยนนิเวศของสายน้ำตามธรรมชาติให้เป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน

การต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานมีทั้งรุกและถอยของทั้งฝ่ายจีนและไทย กระทั่งปี 2563 รัฐบาลไทยในขณะนั้นก็ได้มีมติยกเลิกโครงการความร่วมมือดังกล่าวกับจีนตามมติ ครม. ในเดือน ก.พ. ซึ่งนอกจากเป็นผลพวงการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างเข้มแข็งของคนชุมชนท้องถิ่นแล้ว อีกส่วนอาจเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงของไทยเริ่มหูตาสว่างถึงความเสี่ยงการสูญเสียดินแดนตลอดริมฝั่งแม่น้ำกับ สปป.ลาว

การระเบิดแก่งโขงเป็นโครงการที่ทางการจีนร่วมกับไทยและประเทศตลอดลุ่มน้ำโขงหวังเปลี่ยนแม่น้ำโขงระยะทาง 886 กิโลเมตร จากจีนตอนใต้ผ่านเชียงรายไปจนถึงหลวงพระบางให้เป็นเส้นทางการค้า โดยมองข้ามความผูกพันธ์ของสายน้ำกับผู้คนริมฝั่ง

ครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ส.ค. 2558 หม่อมอุ๋ย – ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองส่งถึง “ครูตี๋” ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ หลังจากรัฐบาลทหารในเวลานั้นเตรียมปูพรมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

โดยหม่อมอุ๋ยระบุในจุดหมายว่า “เรียนคุณครูนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่นับถือ ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่นักข่าวโพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์คุณครูแล้ว ชอบมากเลยครับ มีความเห็นที่สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด เศรษฐศาสตร์ที่ดี คือ เศรษฐศาสตร์ที่เป็นไปตามธรรมชาติของสถานที่แห่งนั้น ๆ ไม่ฝืนธรรมชาติ ผมอยากเรียนให้ครูทราบว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเลยครับ แต่เป็นนโยบายที่ คสช. ประกาศตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล พอตั้งรัฐบาลก็เลยจำต้องเดินต่อ…”

แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 65 ล้านคน ทั้งการประมง มีลำน้ำสาขา พื้นที่ชุ่มน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึงที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ไหลผ่านจีน ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม เป็นระยะทาง 4,880 กม. เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่ผ่านมาสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนเส้นทางนี้ถูกกั้นด้วยเขื่อนจำนวนมาก กระทบต่อการอพยพของปลานับร้อยสายพันธุ์ และคุกคามระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนทั้งภูมิภาค

การยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการจึงถือเป็นชัยชนะของครูตี๋และพวกที่ร่วมต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน กระทั่งวันนี้โลกก็เชิดชูให้ “นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” เป็น 1 ใน 6 ผู้ได้รับรางวัล “Goldman Environmental Prize 2565” ซึ่งเป็นรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลก

สำหรับรางวัล Goldman Environmental Prize ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 โดยจะมีการพิจารณามอบรางวัลให้กับวีรบุรุษและวีรสตรีด้านสิ่งแวดล้อมจากแต่ละทวีปใน 6 ทวีปทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติความเป็นผู้นำระดับรากหญ้าด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกโดยอีก 5 รายที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ

Chima Williams นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากไนจีเรีย มีบทบาทสำคัญกรณีน้ำมันรั่ว และมีการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อชุมชน

Marjan Minnesma จากเนเธอร์แลนด์ มีบทบาทสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายด้านมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Julien Vincent จากออสเตรเลีย นักรณรงค์ระดับรากหญ้าให้มีการตัดงบที่ให้กับอุตสาหกรรมถ่านหิน

Nalleli Cobo จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำพันธมิตรในชุมชนเคลื่อนไหวเพื่อปิดสถานที่ขุดเจาะน้ำมันในชุมชน

Alex Lucitante และ Alexandra Narvaez จากเอกวาดอร์เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมือง เพื่อปกป้องดินแดนของบรรพบุรุษจากการทำเหมืองทอง

ตลอดช่วงเวลา 33 ปี มีผู้ได้มอบรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 213 รายจาก 93 ประเทศ โดยประเทศไทยมีผู้ที่เคยได้รับรางวัล 2 คนคือ เตือนใจ ดีเทศน์ (2537) หรือ “ครูแดง” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และ พิสิทธิ์ ชาญเสนาะ ประธานชมรมมูลนิธิหยาดฝนจังหวัดตรัง (2545)

อ้างอิง:

Niwat Roykaew

https://www.bbc.com/thai/thailand-61561126

ภาพ: Goldman Environmental Prize

Copyright @2021 – All Right Reserved.