การล่า ‘นกชนหิน’…
ไม่ต่างจากการฆ่า ‘เสือดำ’

by Igreen Editor

หน้าที่ของนักวิจัยนกบนเทือกเขาบูโดคือขึ้นภูเขาไปเก็บข้อมูล ซ่อมแซมโพรงรัง สร้างโพรงเทียม ถ่ายภาพ ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการปรับปรุงรังนก โครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก ฯลฯ เป็นการทำงานร่วมกับชาวบ้านในฐานะผู้ช่วยวิจัย

นี่คืองานประจำของ ปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่นักอนุรักษ์และผู้สนใจเรื่องการอนุรักษ์นกมักเรียกเขาในนาม “ปรีดา บูโด”

ปรีดา เริ่มงานที่เทือกเขาบูโดตั้งแต่ปี 2541 และทำงานวิจัยในพื้นที่เรื่อยมากระทั่งปัจจุบันก็ร่วม 21 ปี แต่ถ้านับอายุงาน เขาเริ่มงานครั้งแรกกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ตั้งแต่ปี 2535 และเป็นนักวิจัยมาทั้งชีวิต ช่วงแรกๆ ที่มาทำงานในพื้นที่เทือกเขาบูโด ปรีดาเล่าว่า ชาวบ้านยังมีอาชีพจับลูกนกขายและมีพรานล่าสัตว์ป่า

เขามาสร้างความเข้าใจจนสามารถดึงชาวบ้านและพรานป่ามาร่วมงานเป็นทีม โดยปัจจุบันมีอยู่ 35 คน มาจาก 9 หมู่บ้านรอบๆ เขาบูโด ใน 5 อำเภอของ 3 จังหวัด (ขณะที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี)

ก่อนที่ปรีดาจะเข้ามา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “มารดาแห่งนกเงือก” (GREAT MOTHER OF THE HORNBILLS) เข้ามาทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรกๆ เหมือนอย่างที่ปรีดาเล่า ชาวบ้านไม่เข้าใจความหมายของการอนุรักษ์นกเงือก

ศ.เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์
ขอบคุณภาพ: National geographic ฉบับภาษาไทย

—————–

อาจารย์พิไลเคยเล่าถึงความประทับใจไว้ว่า “ถ้าใครได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของนกเงือกแล้วจะรู้สึกประทับใจ ยิ่งถ้าได้เห็นในช่วงที่ช่วยกันปิดปากโพรง สร้างครอบครัว จะยิ่งรู้สึกทึ่งมาก เพราะการครองคู่ของนกเงือกมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ยึดหลัก ผัวเดียว เมียเดียว

“จนเป็นต้นแบบในการครองคู่ การครองรักกัน พ่อนกเงือกจะทำหน้าที่ต่อครอบครัว ได้เป็นอย่างดี ถ้ามีใครมาใกล้รัง โดยเฉพาะตอนที่มีลูกแล้วลูกออกมานอกรังใหม่ๆ จะร้องไล่ ถ้าเป็นคนจะบินไปหักกิ่งไม้โยนใส่แล้วร้องไล่ให้ออกไปไกลๆ จะปกป้องครอบครัวเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เมื่อมีภัยอันตราย หรือมีใครมาบุกรุกรังและลูกๆ”

ดร.พิไล ระบุว่า นกเงือกมีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัดในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรกรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศนักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือกช่วยกระจายพันธุ์

ปัจจุบัน ดร.พิไลมีโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก และโครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก เพราะนกเงือกไม่สามารถเจาะไม้ได้เอง แต่จะอาศัยโพรงไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ทำโพรงไว้ก่อนแล้วเพื่อเป็นรัง (1)

—————

ปรีดาย้ายจากห้วยขาแข้งมาปักหลักที่บูโดถาวร เพื่อเป็นตัวยืนในการสานต่องานอนุรักษ์นกเงือก “พอเข้ามาทำงานก็มาดึงพรานเป็นแนวร่วม เปลี่ยนนักล่ามาเป็นนักอนุรักษ์ ซึ่งก็ต้องมีค่าตอบแทน เพราะเขาต้องมีรายได้ การมีชาวบ้านมาเป็นผู้ช่วยวิจัย ทำให้การทำงานในพื้นที่เทือกเขาบูโดมีการเฝ้าระวังเข้มข้นมาก”

การทำงานในพื้นที่ของปรีดาในช่วงแรกๆ เป็นการพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านที่อยู่รอบป่าบูโดเห็นความสำคัญของนกเงือก ในฐานะดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดงดิบ ซึ่งเขาบอกว่าแรกๆ อาจมีปัญหาการสื่อสารกันบ้าง เพราะชาวบ้านพูดภาษายาวีเป็นหลัก และใช้ภาษาไทยได้น้อย แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากันได้ในที่สุด

ทำโพรงเทียม

วันเวลาที่ผ่านไปจากชาวบ้านที่มีอาชีพค้าสัตว์ป่าก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ช่วยวิจัย ซึ่งทุกวันนี้มีค่าตอบแทนในการทำงานวันละ 200 บาท ทั้ง 35 คนจะได้รับแบ่งรังนกเป็นหมายเลขจาก 1-200 รัง รับผิดชอบรังใครรังมันตามพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลพื้นฐานของนกเงือก ตั้งแต่การหาโพรงบนต้นไม้ใหญ่ การเฝ้าดูพฤติกรรมของนกเงือก ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังต้องซ่อมแซมรัง ทำโพรงเทียม ซึ่งต้องปีนต้นไม้สูงเพื่อช่วยให้นกเงือกเข้ารังมากขึ้น โดยปัจจุบันทีมชาวบ้านที่มาช่วยงานโครงการฯ มีทั้งผู้สูงอายุ วัยรุ่น และเด็ก ทั้งผู้ชายผู้หญิง ครอบครัวไหนพ่อแม่อายุมากทำงานไม่ไหวก็ส่งต่อมายังรุ่นลูก

นี่คืองานของปรีดาและชาวบ้านที่ต้องทำวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นเหตุผลที่อาจารย์พิไล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ต้องทุ่มเทหาทุนสนับสนุนการทำงาน

“ที่ผมสื่อสารออกไปว่ามีพรานเข้ามาล่านกชนหินและยิงไป 4 ตัว ก็ชาวบ้านเหล่านี้มาบอก แต่นอกจากพื้นที่นี้ อย่างป่าฮาลาบาลาไม่รู้เหลือเท่าไหร่ เพราะมีแรงจูงใจให้มีการล่ามากขึ้น มีการซื้อขายผ่านเฟซบุ๊ก โหนกที่ขายกันก็มาจากในเมืองไทย

“เดิมทีนกชนหินที่นี่มีประมาณ 50 คู่ เหลือประมาณ 20 คู่หรืออาจน้อยกว่านั้น ส่วนนกเงือกจาก 200 รัง เราสามารถเพิ่มประชากรเป็น 600 ตัว ในพื้นที่เขาบูโดทั้งหมด 1 แสนไร่ ซึ่งยังมีฝั่งสุไหงปาดี แต่ไม่มีการเฝ้าระวังเหมือนที่บูโด ไม่รู้ถูกล่าเหลือเท่าไหร่”

สถิติจากการทำงานซึ่งมีการบันทึกไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 หลังสิ้นสุดฤดูทำรังเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ปีนี้มีนกเงือกเข้าโพรงรังทั้งสิ้น​ 43  รัง แบ่งออกเป็น

นกกก​ 23  รัง

นกเงือกหัวแรด​ 13​ รัง

นกเงือกกรามช้าง​ 4​ รัง

นกชนหิน​ 2​ รัง

นกเงือกปากดำ​ 1​ รัง

นกชนหิน

​มีลูกนกออกสู่ธรรมชาติ​ 18  รัง ล้มเหลว 14​ รัง​ ยังอยู่ในโพรงรังอีก​ 11​ รัง และมีการรวบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง​ จนกว่าลูกนกออกจากโพรง​ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมโพรงรังต่อไปในช่วงปลายปี สถิติดังกล่าวนี้เก็บจากโพรงรังที่มีในพื้นที่บูโด 200 รัง แต่ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 100 รัง

ปรีดา เล่าถึงสถานการณ์ล่านกชนหินว่า พรานที่เข้ามาล่าเป็นคนนอกพื้นที่ที่รับใบสั่งมา ทุกวันนี้ยังขี่มอเตอร์ไซค์สวนกัน มาเป็นกลุ่ม 5-6 คน นำสุนัขมาร่วมล่า พกปืนลูกซองยาว ทั้งที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการตั้งด่านความมั่นคงเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร การพกปืนไปล่าสัตว์ป่าได้ จึงถือเป็นเรื่องไม่ปกติ

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นกชนหินเสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลกอย่างยิ่ง ปรีดาจึงต้องการเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันปกป้องนกชนหินอย่างจริงจัง

“ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน เขาก็ทำ ปีที่แล้วมีการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิฯ กับกรมอุทยานฯ มีการจ้างชาวบ้าน จ้างผมไปเป็นวิทยากรที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา และสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งทำงานกันมาด้วยความราบรื่น นอกจากนั้นให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษา แต่นอกเหนือจากนั้นไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ บางเรื่องกลายเป็นการข้ามหน้าข้ามตา ชาวบ้านบอกว่าขึ้นเขาไปไม่เคยเจอเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน

“ฉะนั้นการลาดตระเวนเข้มข้นหรือการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าเกิดเหตุขึ้นครั้งหนึ่งแล้วทำงานครั้งหนึ่ง ต้องทำต่อเนื่อง จะบอกว่าพื้นที่สีแดงเป็นข้อจำกัดไม่ได้ เพราะพวกผมทำกันได้กับชาวบ้าน แต่ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ปราบปราม มีหน้าที่แค่วิจัยเท่านั้น

“การตัดไม้ก็ยังตัดกันอยู่ โดยเฉพาะไม้ตะเคียนชันตาแมว ซึ่งเป็นไม้วงศ์ยางนาที่มีโพรงรังของนก พอถึงฤดูทำรังชาวบ้านก็ขอกันว่าอย่าเพิ่งตัด เพราะนกจะตื่น บ้านหลังใหญ่ๆ แถวนี้ต้องสร้างด้วยไม้ตะเคียนชันตาแมวเพื่ออวดอ้างบารมีว่าเป็นบ้านของคนใหญ่คนโต

ปีนต้นไม้สำรวจโพรงและซ่อมโพรง

“พอผมพูด (โพสต์เฟซบุ๊ก) ลงจากเขามา ผมถูกเรียกให้ไปชี้แจงข้อมูล ผมทำงานตรงนี้มากว่า 20 ปี ชาวบ้านให้ความร่วมมือ จึงเพิ่มนกเงือกเป็น 600 ตัว ฉะนั้นไม่ใช่มาหวาดระแวงหรือมาจับผิดกัน ผมทำงานไม่มีผลประโยชน์อะไร ผมเป็นนักวิจัย ถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะพอมีสิ่งจูงใจ พรานล่าหมูป่าก็เปลี่ยนมาล่านกชนหินแทน เพราะขายได้ตัวละเป็นหมื่น” นี่เป็นความคับข้องใจที่ปรีดาเลือกจะสื่อสารออกสู่สาธารณะมากกว่าการเก็บงำไว้คนเดียว

แต่เพื่อให้การอนุรักษ์นกเงือกและนกชนหินบรรลุล่วงเป้าหมายของทุกฝ่าย ปรีดามีข้อเสนอแนะตรงไปตรงมา นั่นก็คือ

1.ผลักดันให้นกชนหินเปลี่ยนสถานภาพจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์สงวนโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะต้องเป็นเจ้าภาพผลักดันการออกกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์มรดกของชาติเหล่านี้เอาไว้ ไม่ใช่รอให้สูญพันธุ์แล้วค่อยมาออกกฎหมายภายหลัง

2.รัฐต้องเอาจริงเอาจังในการสนับสนุนการอนุรักษ์นกชนหิน โดยร่วมมือกับนักวิจัย ชาวบ้านและพรานในพื้นที่

3.ผลักดันให้พื้นที่บูโดเป็นโมเดลการอนุรักษ์นกเงือก โดยรัฐเป็นเจ้าภาพสนับสนุน เนื่องจากทุกวันนี้เงินบริจาคที่ประชาชนให้มาทำงานไม่เพียงพอ ทำให้ค่ายเยาวชนอนุรักษ์นกเงือกที่เคยจัดต้องเลิกไป เนื่องจากไม่มีงบฯ สนับสนุน แม้แต่ทีมงานผู้ช่วยวิจัยไม่รู้จะมีเงินจ้างได้อีกนานแค่ไหน

เขามองว่าหากไม่เริ่มตั้งแต่บัดนี้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะนกชนหินนั้นไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ นกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอายุนับ 45 ล้านปี ถ้าต้องมาสูญพันธุ์ในยุคนี้ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก และคงจะไปโทษใครไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้

————-

นกชนหิน ( Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil) มีขนาด 120 เซนติเมตร เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งตันคล้ายงาช้างสีแดงคล้ำ ขนตามตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องขาวนวล หางขาวมีแถบดำพาดขวางคล้ายหางนกกก มีขนหางยาวพิเศษ 2 เส้น ซึ่งยาวเกินส่วนหางออกไปถึง 50 เซนติเมตร ขอบปีกขาว ปากสั้นแข็งสีแดงคล้ำ ปลายปากสีเหลือง ตัวผู้มีหนังเปลือยบริเวณคอสีแดงคล้ำ ตัวเมียส่วนนี้เป็นสีฟ้าอ่อนจนถึงสีน้ำเงิน ตัววัยรุ่น ตัวผู้บริเวณคอสีแดงเรื่อตัวเมียส่วนนี้มีสีม่วง โหนกมีขนาดรูปมนสีน้ำตาลแดง ขนหางยังไม่เจริญเต็มที่

นกชนหินปกติหากินระดับยอดไม้ ตัวผู้จะร้องเสียงดังมาก ตุ๊ก…ตุ๊ก… ทอดเป็นจังหวะ ร้องติดกันยาว เสียงร้องกระชั้นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสุดเสียงจะคล้ายกับเสียงหัวเราะ ประมาณ 4-5 ครั้ง เมื่อตกใจจะแผดเสียงสูงคล้ายเสียงแตร เมื่อต่อสู้กันจะบินเอาโหนกชนกันกลางอากาศทำให้เกิดเสียงดัง

นกชนหิน
ขอบคุณภาพ: มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

นกชนหินจะเริ่มปิดปากรังเดือนมีนาคม-เมษายน ลูกนกออกจากรังราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พบลักษณะรังจะพิเศษกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ รังจะเป็นปุ่มปมยื่นออกมา ทำรังในต้นตะเคียน กาลอ ตอแล พฤติกรรมการเลี้ยงลูกมีพ่อนกเลี้ยงครอบครัวเพียงตัวเดียว โดยพ่อนกจะหาอาหารมาเลี้ยงลูกนกและแม่นก และจะเลี้ยงลูกได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น สำหรับนกชนหิน เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือกพบการอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจานั้นพบในมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว (2)

————-

ข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า นกชนหินเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ของนกในวงศ์นกเงือกที่พบในประเทศไทย โดยมีสถานภาพเป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN red list) จัดอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส

ประชากรนกชนหินในไทยเป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็กมีประมาณไม่เกิน 100 ตัว (ข้อมูลประมาณการ) โดยพบนกชนหินกระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี จากการติดตามข้อมูลการสร้างรังโดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตั้งแต่ปี 2537 – 2562 พบนกชนหินทำรังสำเร็จเฉลี่ยปีละ 2 รัง และในปี 2562 จากการติดตามข้อมูลของสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงพบนกชนหินทำรังสำเร็จ 1 รัง

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ Gunung Leuser ในอินโดนีเซียยึดซากหัวนกชนหินได้ระหว่างเตรียมส่งขายไปยังจีนและญี่ปุ่น
Photograph by Jefta Images, Barcroft Media, Getty Images

สภาพปัญหาการล่านกชนหินในปัจจุบัน แบ่งการล่าออกเป็น 2 แบบ คือล่าเพื่อเอาลูกซึ่งมีฤดูกาลทำรังประมาณเดือนธันวาคม – พฤษภาคม และแบบที่ 2 ถูกนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก โหนกของนกเงือกชนิดนี้จะประกอบด้วยเคราติน คล้ายกับนอแรดหรือเล็บของมนุษย์ มีลักษณะแข็งตันต่างจากนกเงือกทั่วไป มีสีสันสีเหลืองอมแดงเป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นที่ต้องการของวงการนักสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่าแทนที่งาช้าง โดยมีชื่อเรียกในหมู่เครือข่ายลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายว่า “หยกทองคำ” หรือ “งาช้างสีเลือด” ซึ่งหลังจากแปรรูปเป็นเครื่องราง หรือเครื่องประดับ จะมีมูลค่าสูงถึงชิ้นละ 20,000 ถึง 30,000 บาท

สำหรับการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่ากรณีของนกชนหิน จำนวน 3 คดี  จับผู้ต้องหาได้ จำนวน 5 คน นกชนหินที่ยึดมาได้ยังมีชีวิต จำนวน 3 ตัวเป็นซาก จำนวน  1 ตัว (3)

จากสถานภาพปัจจุบัน…การล่า “นกชนหิน” จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่แตกต่างจากการฆ่า “เสือดำ” เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลก

อ้างอิง:

  1. https://mgronline.com/qol/detail/9490000059041
  2. http://hornbill.or.th/th/about-hornbills/hornbill-species/helmeted-hornbill/
  3. https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1688625

Copyright @2021 – All Right Reserved.