คพ.เป็นแค่..หน่วยงานกลาง
ฝุ่น PM2.5 ทุกกระทรวงต้องช่วยกันแก้

by Igreen Editor

คอลัมน์ IGreen Talk คุยกับ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหนึ่งในกลไกรับผิดชอบการแก้ไขปัญหา PM2.5 เขาบอกว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 และปีนี้ได้เพิ่มเติมมาตรการเข้าไปให้สอดคล้องกับการถอดบทเรียนในช่วงที่ผ่านมา

สัดส่วนที่มาของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร 72% มาจากยานพาหนะ แบ่งเป็นรถบรรทุก 20% รถกระบะ 20% ภาคอุตสาหกรรม 18% ที่เหลือมาจากรถยนต์ประเภทอื่นๆ และตัวเลขนี้เป็นสัดส่วนที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 75% มาจากปัจจัยธรรมชาติแค่ 25%

ผู้ที่ให้ความสนใจต่อปัญหามลพิษจากฝุ่นทราบข้อมูลนี้ดี รวมทั้ง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธาน ปภ.ชาติก็ทราบเช่นเดียวกัน

แต่คำถามคือทำไมปัญหานี้จึงไม่ทุเลาเบาบางลง (บ้าง) ทั้งที่ฝุ่นไม่ได้เพิ่งมา ฟ้าไม่ได้เพิ่งปิด แต่มันเป็นมลพิษประจำฤดูกาลมาพักใหญ่แล้ว

อรรถพล อธิบายว่า มาตรการหลักๆ ในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ปีนี้ มี 3 ประการ คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การทำงานแบบบูรณาการ และการมีส่วนร่วม โดย ครม. ได้เห็นชอบแผนเฉพาะกิจสำหรับการปฏิบัติ 12 แผน มีศูนย์แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง ที่อยู่ภายใต้ กปภ.ช. หรือที่เรียกว่า ปภ.ชาติ ซึ่งมีรองนายรัฐมนตรี เป็นประธาน และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ รมว.มหาดไทย (มท.) เป็นรองประธาน

แม้จะถูกวิจารณ์ว่าการแก้ปัญหา “จากบนลงล่าง” ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ “อรรถพล” มั่นใจว่าโครงสร้างดังกล่าวนี้ทำให้กลไกการบังคับบัญชาชัดเจนขึ้น สามารถถ่ายทอดนโยบายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่เป็นประธานในระดับภาค และในกรณีเกิดวิกฤตหรือเกิดไฟข้ามแดนในระดับจังหวัด โครงสร้างการสั่งการนี้จะมีความชัดเจนและมีความเบ็ดเสร็จในเชิงพื้นที่

นอกจากนี้ยังได้ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นรองประธาน เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบนโยบาย แนวทางการแก้ปัญหา และการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นรายวัน

“อรรถพล” ระบุว่าแนวทางการปฏิบัติในปีนี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่น ใน กทม. ผู้ว่าฯ กทม.สามารถบังคับใช้กฎหมายการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น ไม่ว่าการจราจร การก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และยังสามารถพิจารณายกระดับการแก้ปัญหาได้ ซึ่งกำหนดไว้ 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับปกติ ระดับที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และระดับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกรณีเกิดวิกฤตหนักๆ และกินระยะเวลายาวนานที่จะนำเข้ากรรมการชุดนี้เพื่อให้นายกฯ สั่งการแก้ปัญหา

จากตัวเลขสัดส่วนการปล่อยมลพิษจากรถบรรทุกและรถกระบะในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักๆ ในการสร้างฝุ่น PM2.5 ทำให้ต้องร่วมมือกันแก้จากหลายหน่วยงาน ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่าได้หารือกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานเขต กทม.ทุกเขตแล้ว เพื่อตั้งด่านตรวจให้มากขึ้น โดยเน้นตรวจรถรับจ้างส่วนบุคคลหรือรถปิ๊กอัพที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเจ้าของไม่ค่อยดูไม่ค่อยบำรุงรักษา ซ้ำร้ายยังเอาไปแต่งกล่อง ECU ให้เครื่องยนต์แรงขึ้นและเกิดควันพิษมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้จะเร่งบังคับใช้กฎหมาย ถ้าไม่แก้ไขก็จะให้หยุดใช้รถ

“จะตั้งตลอด และจะตั้งเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกเขต เพราะทุกเขตและทุก สน.ได้ทราบแล้ว”

ถามย้ำวันหยุดฝุ่นยังเยอะ ทำให้ไทยติดอันดับโลกปัจจัยมาจากอะไร “ปัจจัยเกิดจากอากาศกดทับหรืออากาศนิ่งก็เลยสะสมมาตั้งแต่ก่อนวันหยุดเป็นฝาชีครอบ ซึ่งโซนตะวันตก กทม.จะมี PM2.5 มาก เพราะมีรถบรรทุก รถรับจ้างส่วนบุคคล และการจราจรหนาแน่น เมื่อสภาพอากาศเป็นแบบนี้ฝุ่นจึงสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าสภาพอากาศเป็นแบบนี้จะประสานกับกรมอุตุฯ ถ้าเป็นอีกนานจะหารือฝ่ายบริหารเพื่อจำกัดปริมาณรถยนต์ เพราะถือเป็นสาเหตุสำคัญ และจะหารือกรมอุตุฯ ก่อน คือถ้าถึงจุดสีแดงถือว่าอันตราย ต้องใช้มาตรการที่เข้มมากขึ้น”

สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาระยะยาวในพื้นที่ กทม.จะกำหนดมาตรฐานน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำและเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ผลิตฝุ่น PM2.5 ซึ่งได้เตรียมประกาศและให้มีการบังคับใช้ที่ตามมาตรฐานตามที่ต้องการ รวมถึงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ที่จะใช้ในปี 2567 ก็จะนำเข้า ครม. เพราะต่างประเทศเขาหลีกเลี่ยงเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว เพราะเป็นแหล่งที่ผลิต PM2.5 มากที่สุด ซึ่งการลดกำมะถันและเพิ่มมาตรฐานน้ำมันจะช่วยลดฝุ่นได้

นอกจากนั้นจะควบคุมการเผาในที่โล่งหรือพื้นที่นาข้าวที่เริ่มมีการเผา และใกล้จะเริ่มฤดูหีบอ้อยซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมในการหารือกับสมาคมชาวไร่อ้อยที่จะรับซื้ออ้อยที่ไม่ใช้วิธีการเผาให้มากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าไว้ 50% ในการรับซื้ออ้อยที่ไม่เผา โดยทางอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายไว้แล้ว (ฝุ่นจากการเผาซังข้าว เผาซังอ้อยส่งผลกระทบต่อ)

อรรถพล ระบุด้วยว่านอกจากนี้จะนำเทคโนยีมาใช้ เช่น จะใช้ดาวเทียมในการพยากรณ์ปริมาณฝุ่น โดยร่วมกับนาซ่า (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ) และศูนย์ภัยพิบัติอาเซียน นำภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์แนวโน้มปริมาณฝุ่น PM2.5 ว่ามากขึ้นหรือน้อยลงในช่วง 3 วัน 5 วัน 7 วัน เพื่อจะใช้พยากรณ์และแจ้งเตือนแก่ประชาชน

ปัญหาฝุ่นควันใน 17 จังหวัดภาคเหนือก็เป็นโจทย์ใหญ่ในการจัดการฝุ่น PM2.5 และ PM10 เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากการเข้าไปดับไฟป่าถึง 7 คน ปีนี้ อรรถพล ระบุว่า จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ป่าได้เริ่มดำเนินกิจกรรมชิงเก็บหรือนำวัสดุทางการเกษตรออกมาใช้ประโยชน์ นำใบไม้ไปแปรรูป ทำภาชนะ เผาถ่านชีวมวลที่สร้างรายได้แก่ประชาชน โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้จะประสานกับทุกจังหวัด ซึ่งกำหนดให้นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้จังหวัดละ 100 ตัน คาดว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตันในพื้นที่ล่อแหลม

ขณะเดียวกันในพื้นที่การเกษตรจะมีการจัดระเบียบการเผา ที่ผ่านมารัฐห้ามเผาอย่างเดียวไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเผาในช่วงที่จำเป็น ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ทั้งหมด ฉะนั้นจะแก้ด้วยการจัดระเบียบการเผา ซึ่งจริงๆ ไม่อยากให้เผา แต่ในเมื่อประชาชนมีความจำเป็นก็ได้จัดระเบียบว่าช่วงไหนพื้นที่ไหนเผาได้ เผาไม่ได้ โดยจะออกประกาศผ่านศูนย์ฯ และให้จังหวัดแจ้งเตือนว่าเผาไม่ได้

โดยได้ออกแบบไว้ 2 รูปแบบคือใช้แอปเบิร์นเช็คที่อำเภอแม่แจ่มที่จะเผาในพื้นที่เกษตร และที่เหลือให้ใช้วิธีแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. โดยก่อนจะเผาต้องขออนุญาตก่อน เมื่อได้รับอนญาตจึงจะเผาได้ ซึ่งจะทำให้ไม่มี PM2.5 และ PM10 สะสมมากๆ ในกรณีเผาพร้อมๆ กัน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาห้ามเผา (Zero burning)

นอกจากนั้นมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน fireman สำหรับการแสดงตัวตนของบุคคลที่จะทำหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่ โดยจะลงทะเบียนเครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ดับไฟทั้งหมด เพื่อจะได้ทราบว่าใครอยู่ที่ไหนบ้าง จะง่ายต่อการบริหารจัดการกรณีเกิดไฟ การโยกย้ายคน การปรับกำลังคน การประเมินสถานการณ์พฤติกรรมของไฟ

“แอป fireman จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของคนที่อยู่ในพื้นที่ว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งจะทำให้วอร์รูมของอำเภอและจังหวัดทราบว่าเส้นทางของไฟไปทางไหน เขาอยู่ตรงไหน หัวไฟไปทางไหน ปีกไฟไปทางไหน ซึ่งปกติคนอยู่ในพื้นที่ไม่รู้ถ้ามีแอปจะรู้ว่าตรงไหนปลอดภัย ตรงไหนไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่เองก็จะปลอดภัยด้วย ซึ่งตรงนี้จะบัญชาการโดยจังหวัด”

อีกแอป คือ เบิร์นเช็ค ที่จะกระจายการเผาเพื่อลด PM2.5 และ PM10 ให้มากที่สุด โดยการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินปริมาณเชื้อเพลิงที่อยู่ในพื้นที่ป่าและวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงต่อไฟไหม้ป่ามากก็จะเข้าไปจัดการพื้นที่นั้นมาก ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง จำนวน 2.8 ล้านไร่ และในพื้นที่เหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และกรมป่าไม้เข้าไปจัดการเชื้อเพลิง ทั้งเอาออกมาใช้ประโยชน์และมีการชิงเผาในบางพื้นที่บางส่วน เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อเพลิง แต่ไม่ได้ชิงเผาทั้งหมดทั้ง 2.8 ล้านไร่

“เช่น พื้นที่ทุรกันดารที่เราไม่สามารถขนย้ายเชื้อเพลิงออกมาได้ ซึ่งจะเป็นการชิงเผาตามหลักวิชาการ หรือเป็นการลดความต่อเนื่องของเชื้อเพลิงหรือลดปริมาณเชื้อเพลิงลง พร้อมๆ กับการทำแนวกันไฟไปด้วย แต่ไม่ได้ชิงเผาทั้งหมด ขณะที่พื้นที่เกษตรจะมีการจัดระเบียบ” 

ปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการไฟในภาคเหนือเมื่อปีที่แล้วคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ไม่กล้าเบิกจ่ายงบในการแก้ปัญหาไฟป่า เพราะกลัวถูก สตง.ตรวจสอบภายหลัง ซึ่งอธิบดี คพ. ยืนยันว่า “ปีนี้สบายแล้ว ได้มีการพูดคุยกับทาง สตง.แล้วว่าสามารถดำเนินการได้ ทาง อปท.ก็สามารถตั้งแผนงบประมาณกิจกรรมป้องกันและดับไฟป่าได้ อบต.ก็ตั้งชุดดับไฟ ชุดลาดตระเวนไฟได้

“ตรงนี้จะเสริมความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด เพราะ อบต.หรือท้องถิ่นอยู่ใกล้ไฟที่สุด และ อปท.จะไปเชื่อมกับวอร์รูมจังหวัด การทำงานจะง่ายมากขึ้น เมื่อเข้าถึงไฟได้เร็วไฟจะควบคุมได้มากขึ้นจะไม่เกิดไฟใหญ่จะไม่เกิดปัญหาในการควบคุมไฟไม่ได้”

ถามย้ำ..หมายความว่าปีนี้ผู้ว่าฯ ไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อแก้ปัญหาตามที่ สตง.แนะนำ  “ปีนี้พยายามที่จะใช้วิธีแบบนี้ เพราะว่าปีที่ผ่านมาเราประกาศแล้วก็ห้าม พอยิ่งมีไฟก็ยิ่งห้าม พอห้ามยาวมากขึ้นก็เลยห้ามไม่ได้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตอนนี้ทางเชียงใหม่จะใช้วิธีดำเนินการแบบนี้”

จากการประเมินสถานการณ์ในปีนี้ อธิบดี คพ. บอกว่าจะมีการประเมินไปถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ และคิดว่าเอาอยู่ โดยเฉพาะเป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ลงให้ได้ 20% เพราะมีมาตรการชัดเจนมากกว่าเดิมและทุกหน่วยงานรับทราบหน้าที่ว่าจะต้องทำภายใต้กรอบของแผนชาตินี้อย่างไร ประชาชนก็ตื่นตัว และถ้ายิ่งท้องถิ่นเข้ามาช่วยก็จะช่วยได้เยอะ

“พอไม่มีไฟใหญ่ปริมาณฝุ่นละอองก็จะน้อยลงคือไฟป่าถ้าเราเข้าถึงอย่างรวดเร็ว ไม่เกินชั่วโมงเข้าถึงเอาอยู่หมด ส่วนใหญ่ที่เกิดเป็นไฟใหญ่เพราะเราเข้าไปไม่ถึง เข้าไปถึงช้า พอช้าก็ลุกลามใหญ่ แล้วก็ควบคุมได้ยาก คราวนี้ก็ไหม้เป็นวันๆ เลย ไหม้ทีหนึ่งหลายวันก็พอ

“แต่ถ้าเราเข้าเร็วดับเร็ว พอเจอเร็วพบเห็นเร็ว เราใช้ hotspot อยู่แล้วซึ่งมีความถี่ความละเอียดมากขึ้นอยู่แล้ว พบเห็นเร็วเข้าถึงเร็วควบคุมเร็วความเสียหายก็น้อย”

การเข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่างทันท่วงที่ว่า อรรถพลบอกว่า ทีม fireman ที่พร้อมจะเข้าถึงพื้นที่ทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ มี 5,000-6,000 คน ยังไม่รวมชาวบ้าน เครือข่ายจิตอาสา และมีแรงงานที่กระทรวงจ้างแรงงานช่วงโควิด-19 อีก ซึ่งรวมๆ แล้วจะมีในพื้นที่ประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะช่วยได้เยอะ

“คนเหล่านี้มีกองทุนมีมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเลที่คอยช่วยเหลือหรือมีสวัสดิการของกรมทั้งสองกรมที่มีเงินช่วยเหลือและยังมีระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือทางราชการที่กระทรวงมหาดไทยช่วยได้อีก เราช่วยทุกช่องทางจากการบาดเจ็บจากไฟป่า นอกจากนั้นภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยทำประกันหมู่ในบางพื้นที่ หรือให้บุคคลที่มาทำหน้าที่ fireman จะได้ทำประกันทุกคน”

ในแง่ความสำเร็จของการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่หน้าที่หลักของ คพ.ที่ต้องรับผิดชอบ ทว่าเป็น “หน่วยงานกลาง” ที่จะต้องเชื่อมกับทุกๆ กระทรวงให้มาช่วยกันทำงาน นี่คือนโยบายเชิงรุก เพราะถ้าไม่มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานก็ยากที่จะสำเร็จ

“จริงๆ มันเป็นเรื่องของทุกๆ กระทรวงด้วยซ้ำ ทั้งสาธารณสุข ทั้งคมนาคม อุตสาหกรรม มหาดไทย ต้องช่วยกันทำงาน ถ้าเราทำหน่วยงานกลางให้เข้มแข็งและเชื่อมไปที่จังหวัดทุกๆ จังหวัดได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้”

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ คพ. อธิบดี ระบุว่า จริงๆ อำนาจหน้าที่เท่าเดิม แต่ต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น รุกทั้งในเรื่องชี้แจงทำความเข้าใจพี่น้องประชาชน รุกทั้งในเรื่องการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ

ในการชี้แจงทำความเข้าใจจะใช้แอปพลิเคชัน Air4Thai นำเสนอข้อมูลสำหรับแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งถือเป็นข้อมูลเรียลไทม์ “แต่คนไม่เข้าใจว่าตามหลักวิชาการของการนำเสนอข้อมูลการตรวจอากาศมันจะต้องเป็นค่าเฉลี่ย สมมติว่าถ้าเราอยากจะรู้ ณ นาทีนี้ว่ามีปริมาณ PM2.5 เท่าไหร่ เราก็ดูใน Air4Thai ได้ว่า ณ เวลานั้นเท่าไหร่

“เพียงว่าหลักของการรายงานที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน USCPA เนี่ย เพราะหมอกควันหรือฝุ่นละอองไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายแล้วกระทบโดยเฉียบพลันมันเป็นการสะสม เขาถึงใช้ค่าเฉลี่ย ทุกครั้งที่อ่านนาทีนี้จะใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 24 ชั่วโมง แล้วก็มาประมวล แต่จะดู ณ นาทีนั้นก็ดูได้

“อันนี้เป็นหลักมาตรฐานสากลอยู่แล้ว ทั้งของ AirBKK ของสหรัฐอเมริกา ของญี่ปุ่น ของต่างประเทศใช้มาตรฐานเดียวกันหมด เพียงแต่ว่าประชาชนพอไปเห็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศแบบโลว์คอสก็เข้าใจว่า ณ เวลานั้นพอฝุ่นสูงจะสูงทั้งวัน ซึ่งไม่ใช่ จึงให้เชื่อถือตามหลักมาตรฐาน

“ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้ตรวจเช็คฝุ่นได้เลย เพราะมีค่า AQI อื่นๆ ด้วย ทั้งปริมาณโอโซน คอร์บอนมอนน็อกไซด์ และอื่นๆ จะได้ทราบว่าถ้าค่า PM2.5 เท่านี้จะดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งเราพยายามสื่อสารผ่านกรมประชาสัมพันธ์และผ่านศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้มากขึ้นและสื่อไปในสื่อโซเชียลมากขึ้น แต่ในสื่อโซเชียลเขาจะไปเอามาจากไหนเราไปห้ามไม่ได้ แต่ถ้าจะอ้างอิงให้ใช้ค่ามาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดความตระหนกตกใจและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด”

การจัดอันดับว่าไทยติดอันดับโลกเรื่องฝุ่น PM2.5 ของแอป AirVisual อาจจะทำให้ดูน่าตกใจ อธิบดี คพ.อธิบายประเด็นนี้ว่า ความจริงเป็นเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองโดยใช้การกระเจิงของแสง ซึ่งไม่ใช้แค่ PM2.5 แต่รวมไอน้ำเข้าไปด้วยเวลามารวมและประมวลผล  ซึ่งเป็นเรื่องของธุรกิจ

“เราก็ไม่ว่าเอาไปได้ว่ามันเพิ่มหรือลดลง แต่ว่าถ้าจะตีเป็นค่ามาตรฐานก็เอามาใช้ให้มันถูกหลักเท่านั้นเอง ฉะนั้นการจะไปประชาสัมพันธ์หรือเอาไปแจ้งเตือนออกสื่อควรใช้ค่ามาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเกิดความตระหนกตกใจและก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แล้วเวลาอากาศบริสุทธิ์มันแจ้งไหม แจ้งเฉพาะเวลาพีคอย่างเดียว มันไม่ใช่ มันก็ต้องมาช่วยกัน ก็ดีตรงที่ให้คนได้ระมัดระวัง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษจะพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มเติมก็คือ จะพยายามวางเบสของเครื่องตรวจวัดให้มากขึ้นที่จะต้องกระจายไปทุกๆ จังหวัด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่จะได้เป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ราคาแพงมาก เพราะเป็นค่ามาตรฐานของ USCPA ซึ่งเป็นเรื่องวิชาการที่ไม่สามารถไปซื้อเครื่องถูกๆ มาใช้ได้

อีกเรื่องที่ คพ.ให้ความสำคัญคือปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา จึงได้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศที่อยู่ติดกับไทยไปแล้วเพื่อขอความร่วมมือซึ่งกันและกันในการลดจำนวนจุดความร้อน รวมทั้งได้แนะนำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแก่ประเทศเหล่านั้นด้วย รวมทั้งองค์ความรู้ และอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ได้ ซึ่งถือเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อธิบดี คพ.คาดหวังว่าปีนี้สถานการณ์ฝุ่นน่าจะเบากว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องรอลุ้นต่อไป เพราะนอกจากปัจจัยที่เกิดจากิจกรรมของมนุษย์แล้ว ยังมีปัจจัยผกผันของภูมิอากาศที่มีผลอย่างสำคัญต่อความสำเร็จในการแก้ปัญหา PM2.5 อีกด้วย

Copyright @2021 – All Right Reserved.