OPINION: ไวรัสทำให้ลดคาร์บอนไม่ถึงเป้า
โลกมุ่งฟื้นเศรษฐกิจอย่างบ้าคลั่ง

by Igreen Editor

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ องค์การนาซาเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณประเทศจีนแสดงให้เห็นว่าระดับมลพิษลดลงอย่างมาก คาดว่าเป็นเพราะหลังจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่คนจีนถูกกัก ถูกปิดเมือง ถูกสั่งห้าม ทำให้ต้องหยุดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ รวมถึงจักรกลในโรงงาน การขนส่ง การเดินทางลดลงเหมือนกับไม่มีผู้คนอาศัยในจีนเลย

นอกจากนี้ ในช่วงสี่สัปดาห์จนถึง 1 มีนาคม 2563 การปล่อย CO2 ของจีนลดลง 200 ล้านตันหรือ 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) เปอร์เซนต์ที่ลดลงเทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษจากอาร์เจนตินา อียิปต์ หรือเวียดนาม ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

การบริโภคถ่านหินในโรงไฟฟ้าในประเทศจีนลดลง 36% และการใช้น้ำมันในโรงกลั่นลดลงเกือบเท่าตัว

ก่อนหน้านี้ หากดูจากภาพถ่ายอินฟาเรดจะพบว่าทั่วประเทศจีนถูกปกคลุมด้วยมลพิษ เพราะจีนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณศาล หรือพูดกันตรงๆ ก็คือมากที่สุดในโลก ทำให้จีนถูกโจมตีเรื่องนี้มาโดยตลอด

แต่การปล่อยคาร์บอนลดลงในจีนไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เพราะหลังจากผ่านพ้นการระบาดไปได้ จีนจะเริ่มการผลิตครั้งมโหฬารเพื่อชดเชยกับที่ต้องหยุดไป

มันคือการเอาคืนของภาคอุตสาหกรรมที่ถูกการระบาดกดทับเอาไว้ สิ่งที่จะต้องเรียกคืนมาคือมูลค่าของตลาดหุ้นที่หายไปถึงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียค่าต้นทุนไปสูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์

การจะเอาทุนคืนจะต้องผลาญทรัพยากรมหาศาล ทั้งถ่านหินน้ำมันที่หยุดใช้ลงไปจะถูกตักตวงนำมาใช้แบบไม่ยั้งมือ ซึ่งตอนนี้มีสัญญาณแล้วว่าจีนจะยอมลดการควบคุมการใช้ถ่านหินลง จากที่เคยตั้งใจว่จะควบคุมมันอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น ทุกประเทศและภาคส่วนต่างๆ จะทำเป็นลืมว่าพวกเขามีพันธกิจที่จะต้องลดการปล่อย CO2 ภายในปีนั้นปีนี้ เพื่อที่จะไม่ให้อุณหภูมิสูงไปกว่า 2 องศาเซลเซียส มิฉะนั้นปัญหาโลกร้อนจะถึงจุดที่แก้ไขกลับมาให้เป็นปกติไม่ได้

ประเทศต่างๆ จะหันไปสนใจฟื้นตัวเลขเศรษฐกิจกันอีกนานนับปี กว่าที่จะหันกลับมาสนใจตัวเลขอุณหภูมิโลกกันอีกครั้ง

นี่คือผลกระทบที่น่ากลัวของการระบาดที่หลายคนยังมองไม่เห็น อันทำให้เรามีเหตุผลที่จะเร่งเครื่องจักรการผลิตเพื่อเอาคืนสิ่งที่เสียไป โดยลืมไปว่ากำลังจะเสียสิ่งที่ล้ำค่ากว่าไป

โลกของเราโชคร้ายจริงๆ ที่พบกับวิกฤตโรคระบาดในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เหลืออยู่แค่นิดเดียวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

Copyright @2021 – All Right Reserved.