รัฐต้องดูแลมรดกโลกมากกว่าแผนปกติ
หยุดโครงการทำลายผืนป่าและพื้นที่อนุรักษ์

by IGreen Editor

คอลัมน์ iGreen Talk ชวนคุยกับ ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หลังกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งมีความเห็นในกรณีนี้แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีความยินดีที่ไทยได้ขึ้นมรดกโลกเพิ่มอีกแห่ง แต่อีกฝ่ายออกมาคัดค้านโดยระบุว่านี่คือ มรดกเลือด

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ในฐานะคนทำงานปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่ามายาวนาน ภาณุเดช บอกว่า เห็นด้วยที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เนื่องจากคุณค่าโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สูงมาก และกลุ่มป่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ได้มีแค่ป่าแก่งกระจานหรืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่รวมถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีด้วย

ภาณุเดชบอกว่า จะต้องแยกกรณีนี้ออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรก คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ในเชิงนิเวศทุกคนรู้ว่า แก่งกระจานมีศักยภาพสูงและในอนาคตจะได้รับความคุ้มครองพื้นที่ป่าและสัตว์ป่ามากขึ้นตามเงื่อนไขการขึ้นมรดกโลก (ข้อดีที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐในการดำเนินการ รวมถึงเขาใหญ่และห้วยขาแข้งที่จะทำให้ดีขึ้นด้วย ที่ผ่านมาภาณุเดชยอมรับว่า ยังทำได้ไม่ดีมากเท่าที่ควร แต่ยังโชคดีที่มีองค์กรภายนอกเห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้นหน่วยงานปกติที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำมากกว่านี้

เรื่องที่สอง ควรให้พื้นที่ (มรดกโลก) ปลอดคนอยู่อาศัยหรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่งที่ยูเนสโกได้ขอให้ไทยพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำกินและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสนับสนุนให้เกิดการจัดการพื้นที่ร่วมกัน จึงควรร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างแรกคือการถอยคนละก้าว เพื่อหาจุดร่วมกัน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เราสามารถนำวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกับป่ามาปรับใช้ในพื้นที่ชุมชนได้ ขณะเดียวกันชุมชนควรเปิดพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในผืนป่าแห่งนี้ได้อย่างสมดุล

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน Cr. ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน Cr. ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“ดังนั้นต้องทำแผนบริหารจัดการให้ชัด เช่นกรณีชุมชนบางกลอยต้องแก้เรื่องที่ดินให้ชัดโดยรัฐหาทางพูดคุยเพื่อถอยคนละก้าว ที่ผ่านมามีการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่ผลการหารือไม่ถูกนำมาปฏิบัติ ถอยคนก้าวคือต้องประเมินเรื่องระบบนิเวศ และการยอมรับกับวิถีวัฒนธรรมของเขาด้วย เช่น มีพื้นที่ให้ชุมชนจัดการเชิงวัฒนธรรมได้ อย่างเช่น การทำไร่หมุนเวียน นำประเพณีดั้งเดิมมาใช้

“แต่ผมไม่เห็นด้วยถ้าเอาวิถีพื้นราบไปให้เขาใช้หรือที่โป่งลึกเขาบอกทำไม่ได้ เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ จะหาพื้นที่พิเศษเพื่อการจัดการเชิงนิเวศบวกพื้นที่วัฒนธรรมที่สามารถใช้ร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปถึงใจแผ่นดิน หรือใช้มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือมีพื้นที่อื่นที่สามารถตกลงกับชาวบ้านได้และให้เขาใช้วัฒนธรรมของเขาได้ด้วย”

ภาณุเดช ยกตัวอย่างป่าแก่งกระจานด้านบนจากข้อมูลการติดตามประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่พบว่า มีอยู่ไม่มากนัก มีศักยภาพในการรองรับสัตว์ป่าได้เข้ามาอยู่อาศัยได้ โดยที่ผ่านมาสัตว์ป่าอยู่กันอย่างหนาแน่นทางป่าแก่งกระจานตอนล่างลงไปจนถึงกุยบุรี เนื่องจากแนวทางเชื่อมสัตว์ป่าในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างตัดขาดลงจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งอ่างเก็บน้ำ เขื่อนเพชรบุรี และพื้นที่การใช้ประโยชน์ชุมชนตลอดแนวลำน้ำเพชรขึ้นไปจนถึงป่าต้นน้ำบริเวณแนวชายแดนทำให้สัตว์ป่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ จึงต้องมีการเชื่อมผืนป่า (Corridor) ระหว่างสัตว์ป่าที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำเพชรกับด้านบน

“ถ้ามองในแง่ความหลากหลายควรสร้างการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มคุณค่าความหลากหลายของระบบนิเวศให้มากขึ้น ตรงนั้นจะมีการสร้างเขื่อนหนองตาดั้งขึ้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี โดยกรมชลประทานได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้ว และอยู่ระหว่างการปรับแก้ ซึ่งรัฐบาลควรมีความชัดเจนเรื่องการยุติโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ และพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด

“ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินและคุณภาพชีวิตร่วมกับการฟื้นฟูแนวเชื่อมป่าระหว่างแก่งกระจานตอนบนและตอนล่างได้ คุณค่าในเชิงการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และระบบนิเวศที่สำคัญก็จะได้รับการคุ้มครองได้อย่างยั่งยืน รัฐจึงต้องไม่ละเลยปัญหานี้หรือทำแค่การจัดทำรายงานประจำปี”

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาณุเดช ระบุว่า แนวเชื่อมต่อนิเวศที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง คือแนวเชื่อมต่ออุทยานฯ แก่งกระจานกับอุทยานฯ กุยบุรีที่แยกขาดออกจากกัน เนื่องจากมีทหารขอใช้ประโยชน์แทรกอยู่พื้นที่หลายหมื่นไร่ หากประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแล คุ้มครองสัตว์ป่าและระบบนิเวศนี้อย่างจริงจัง หน่วยงานทหารควรคืนพื้นที่ให้กรมอุทยานฯ เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ตลอดทั้งผืน ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ได้เจรจาต่อรองเพื่อนำพื้นที่มาอนุรักษ์ แต่ทางกองทัพยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งในการยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้มีการกันพื้นที่บริเวณนี้ออก แต่เมื่อได้เป็นมรดกโลกแล้วก็ควรจะมีการจัดการให้เกิดการเชื่อมต่อของพื้นที่

ภาณุเดชฝันอยากจะเห็นมากกว่านั้นคือการสร้าง Corridor กับฝั่งประเทศเมียนมาด้วย เพราะทางตอนใต้ของเมียนมามีการบุกรุกพื้นที่เพื่อการพัฒนาสูงมาก ทั้งการทำเหมืองและปลูกปาล์ม มีการสร้างเขื่อนตลอดแนว ซึ่งหากเมียนมาจัดการไม่ดีในอนาคต พื้นที่ตอนล่างหรือภาคใต้ของเมียนมาจะถูกคุกคามไปเรื่อย ๆ สัตว์ป่าก็จะเลาะแนวตะเข็มชายแดนฝั่งไทย

“ถ้าป่าบ้านเราบุกรุกไปด้วยสัตว์ก็จะไปอยู่ติดชายแดน ป่าตะวันตกกับป่าแก่งกระจานซึ่งไม่สามารถเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ได้ ถ้าเชื่อมกับฝั่งเมียนมาได้ก็จะสมบูรณ์ขึ้นเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจริง ๆ แต่ฝั่งเมียนมาการดูแลพื้นที่ไม่เหมือนบ้านเรา เพราะบริเวณชายแดนมีรัฐกะเหรี่ยงด้วย การจัดการร่วมกันทำได้ยาก”

นอกจากปัญหากรณีชุมชนบางกลอยที่แก่งกระจาน พื้นที่ตอนล่างของอุทยานฯ แก่งกระจานต่อไปจนถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีก็มีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เช่น ช้างป่า กระทิง ออกมาหากินในพื้นที่ขอบป่าและชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐยังไม่สามารถจัดการได้ เป็นปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าที่รุนแรงขึ้น รวมถึงต่อสัตว์ป่าเองด้วย เช่น กรณีอุทยานฯ กุยบุรีช้างป่าตายจากรั้วไฟฟ้าช๊อต เพราะเข้าไปกินพืชผลการเกษตร หรือการที่สัตว์ป่าติดเชื้อโรคจากสัตว์บ้านตายจำนวนมากล้วนเป็นเรื่องท้าทายที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ และรัฐบาลต้องหันมาทบทวนการทำงานเชิงรุกกับ “คน” ให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการดูแลปกป้องคุ้มครองผืนป่าและสัตว์ป่า

ด้านอุทยานฯ เฉลิมพระเกียรติไทยประจันก็พบว่า มีปัญหาแนวเขตที่ดินทำกินชุมชนกับอุทยาน แต่ได้รับการจัดการมาก่อนแล้ว ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบ และมีอ่างเก็บน้ำเก่าอยู่ในพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตาม บทเรียนของผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติของไทยที่ผ่านมา ภาณุเดชตั้งคำถามว่า หลังจากได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้คงสภาพความเป็นพื้นที่มรดกโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งภาพที่เขาเห็นและอยากสะท้อนก็คือ เป็นการบริหารจัดการตามแผนงานและงบประมาณตามปกติ เช่นเดียวกับพื้นที่คุ้มครองอื่น ๆ โชคดีที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง หรือแม้แต่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีองค์กรภายนอกเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

“เพื่อความยั่งยืนพื้นที่มรดกโลกควรได้รับการดูแลและการสนับสนุนเป็นพิเศษในทุก ๆ ด้าน เช่น งบประมาณและแผนงานที่ตอบสนองภารกิจในพื้นที่อย่างเต็มที่ บุคลากรที่เพียงพอต่อการทำงาน งานวิชาการต่อเนื่อง งานชุมชน ฯลฯ ในผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เคยมีโครงการเสริมประสิทธิภาพงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าหรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการเสือ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)  

“เป็นโครงการที่พยายามสนับสนุนการทำงานในทุกมิติ เพิ่มเติมจากแผนงานและงบประมาณปกติของกรมอุทยานฯ โดยใช้เสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของผลงานที่เกิดขึ้น ผลของการใช้งานวิจัยนำการจัดการ งานปกป้องคุ้มครองพื้นที่ งานมีส่วนร่วมกับชุมชนด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ และงานสื่อสารสร้างความเข้าใจกับชุมชนและสาธารณะชนพบว่า พื้นที่สามารถคุ้มครองเสือโคร่งอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติได้

แต่เมื่อโครงการเสร็จสิ้นลง เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนงานและงบประมาณปกติของกรมอุทยานฯ ไม่สามารถสานต่อการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้อย่างที่ควร ผมรู้สึกเสียดาย แต่ก็หวังว่าในอนาคตรัฐจะให้ความสำคัญและนำบทเรียนจากโครงการเสือมาใช้ในการสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยได้”

นอกจากมุมที่เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ชี้เห็นแล้ว ในความเป็นจริงก็มีตัวอย่างเป็นที่ประจักษ์กรณีไทยถูกยูเนสโกยื่นใบเหลืองกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่มีความเสี่ยงถูกบรรจุในบัญชีมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายในปี 2557 เนื่องจากพื้นที่ถูกคุกคามใน 6 ด้าน นั่นคือ การขยายถนนทางหลวงสาย 304 ผ่านผืนป่าดงพญาเย็นเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ พื้นที่ดงพญาเย็นป่าไม่ต่อเนื่องและถูกบุกรุก เกิดปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาน้ำเสียจากนักท่องเที่ยวแผนบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการสร้างเขื่อนเก็บน้ำในป่าดงพญาเย็นของกรมชลประทาน ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ได้รับการแก้ไขมาเป็นลำดับ

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ก็ได้ขอให้ไทยทบทวนการสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ทั้ง 7 แห่งและให้จัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ก่อน

ภาณุเดชมองด้วยว่า นอกจากเจตนารมณ์ต่อการคุ้มครองมรดกโลกที่จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังหมายรวมถึงการจัดการพื้นที่ป่าทั่วประเทศด้วย นั่นเพราะกรรมการป่าไม้แห่งชาติกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไว้ที่ 40% แต่กลับมีโครงการพิเศษเจาะเข้าในพื้นที่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเก็บป่าอนุรักษ์ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ ถ้าเจตนารมณ์หรือนโยบายไม่ชัดก็จะมีโครงการแทรกเข้ามา เช่นตัวอย่างกรณีโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งคราวนี้ยูเนสโกแนะนำให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกและให้จัดทำประเมิน SEA ก่อนโดยเฉพาะการจัดการระบบน้ำ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

“ในวงเสวนา ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ จากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ ได้เสนอว่า ควรจัดทำแผนการดูแลมรดกโลกใหม่ โดยนำทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายมาหารือกันให้เกิดมาสเตอร์แพลน (โครงร่างการดำเนินการพื้นที่ของโครงการในอนาคต) ร่วมกันตามแผน SEA  ซึ่งจะมองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสร้างถนน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะไม่กระทบต่อพื้นที่มรดกโลก พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการมองเชิงยุทธศาสตร์ทั้งระบบ ชุมชนก็อยู่ได้ ถ้ามีความจำเป็นเรื่องการใช้น้ำก็มาทำแผนร่วมกันซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ ด้วย

“แต่ในเวลานี้รัฐยังไม่มีความชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปสำหรับโครงการสร้างเขื่อน 7 แห่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยที่กรมชลประทนได้ทำอีไอเอไปบางโครงการแล้ว เข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก. ที่มีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นประธานแล้วด้วย

“ถ้าดูตามที่ยูเนสโกให้ขอให้ทบทวนทางกรมชลประทานก็ควรหยุดไว้ก่อนมาคุยเรื่องการทำ SEA ให้ชัดก่อน ไม่ใช่ว่าเอาเวทีอีไอเอมาปรับทำ SEA ไปด้วย ซึ่งการทำอีไอเอต้องให้ คชก. เห็นชอบ ฉะนั้นรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่สวมหมวกหลายใบต้องเริ่มต้นมาดูเรื่องนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะกระทบกับโครงการอื่น ๆ อีก ส่วนกรมอุทยานฯ ก็มีหน้าที่ในการคุ้มครองซึ่งก็เสียงเบาไปหน่อย ทั้งที่มีข้อมูลเชิงคุณค่าของระบบนิเวศเยอะมาก ซึ่งผมคิดว่าควรแสดงจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัด”

Copyright @2021 – All Right Reserved.