พิพากษาคดีกะเหรี่ยงรุกป่า
พลิกจากยกฟ้องให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน

by Admin

ศาลจังหวัดเพชรบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทวงคืนผืนป่าตามที่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีเป็นโจทย์ฟ้องนางวันเสาร์ ภุงาม ชาวบ้านกะเหรี่ยง บ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จำเลยในความผิดบุกรุกป่าแก่งกระจานตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้รื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้างออกและชดใช้ค่าเสียหาย 310,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา

ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ที่ถูกดำเนินคดีรุกป่าแก่งกระจานร้องขอความเป็นธรรมจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกนางวันเสาร์ 3 ปี 8 เดือน ปรับเงิน 2,124,060 บาท และให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง ต่อมานางวันเสาร์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยกฟ้อง” แต่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรียื่นฏีกาต่อศาล จนในที่สุดศาลพิพากษากลับให้จำคุกอีกครั้ง แต่ลดโทษให้เหลือ 1 ใน 3

คดีนี้นางวันเสาร์ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 ข้อหายึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน เข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น สร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าและเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 31 ไร่ บริเวณหมู่บ้านท่าเสลา ม.5 ต.ยางน้ำกลัดเหนือ จ.เพชรบุรี

ในขณะที่นางวันเสาร์ยืนยันที่ดินผืนนี้เป็นมรดกของบรรพบุรุษที่ทำกินสืบทอดกันมาตั้งในแต่อดีตนับร้อยปี เคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านท่าเสลาแห่งเดิม จนเกิดโรคระบาดใหญ่ในรุ่นของปู่ย่าทำให้มีการย้ายที่ตั้งหมู่บ้านห่างออกมา 2 กิโลเมตร แต่ยังใช้เป็นที่ทำกินสืบเนื่องต่อมา

กระทั่งมีการประกาศเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน และมีการประกาศขยายเขตอนุรักษ์ทับเมื่อหลายปีก่อน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีการรังวัดที่ดินใหม่ในปี 2557 ทำให้ชาวบ้านหลายรายถูกดำเนินคดีบุกรุกแผ้วถางป่า ซึ่งนอกจากนางในเสาร์แล้ว ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ยังมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางป่าอีกหลายสิบราย

การดำเนินคดีนี้ครั้งนี้มูลเหตุมาจากกรมอุทยานฯ ลากเส้นแนวเขตใหม่ โดยอ้างว่าในปี 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ ‘One Map’ เพื่อให้หน่วยงานราชการใช้แผนที่เดียวกันในการทำงาน จึงยึดเอาเส้นแนวเขตที่ถูกขีดขึ้นใหม่เป็นเส้นทางการ และได้รวมเอาพื้นที่ของวันเสาร์เข้าไปอยู่ในเขตอุทยานฯ ด้วย

ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิเสธว่า การดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ที่ศาลได้ตัดสินจำคุกนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ One Map แต่เจ้าหน้าที่และคณะทำงานกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินคดีตามคำสั่ง ที่ 97/2558 ลงวันที่ 15 ม.ค. พ.ศ. 2558 โดยพิจารณาจากเส้นแนวเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ. 2524

นอกจากนี้มีการถ่ายทอดเส้นแนวเขตเป็นระบบเชิงเลข (shape file) ซึ่งเส้นแนวเขตดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนด โดยมีระยะห่างจากเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร

การดำเนินการตามโครงการ One Map นั้นได้มีการแบ่งการดำเนินการ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด โดยกลุ่มจังหวัดที่ 1 ได้แก่ จ.นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

กลุ่มจังหวัดที่ 2 ได้แก่ จ.จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สำหรับกลุ่มจังหวัด ที่ 3 – 7 อีก 55 จังหวัดที่เหลือขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

อนึ่ง ตั้งแต่ 2557-2565 มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 34,692 คดี

Copyright @2021 – All Right Reserved.