คนนับล้านตายเพราะพลาสติก…ใครจะรับผิดชอบ?

by Igreen Editor

ไม่เพียงผลกระทบต่อโลกธรรมชาติ รายงานฉบับใหม่นี้จะทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงภัยของเสียและมลพิษพลาสติกต่อชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทุกๆ ปีมีคนทั่วโลกนับล้านเสียชีวิต ซึ่งรัฐบาลและบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ควรต้องออกมาร่วมรับผิดชอบจากการร่วมมือของเทียร์ฟันด์ (Tearfund) หน่วยงานด้านการบรรเทาทุกข์และการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันทำงานในประมาณ 50 ประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากจนและผู้ประสบภัยในชุมชนด้อยโอกาส ร่วมกับองค์กรการกุศล ฟอนา แอนด์ ฟอรา อินเตอร์เนชั่นแนล (Fauna & Flora International) รวมทั้งองค์กรการกุศลเพื่อการจัดการขยะ เวสต์เอด (WasteAid) และสถาบันพัฒนาการศึกษา (The Institute of Development Studies) ได้จัดทำรายงานชื่อว่า No Time to Waste ขึ้นมา

ตามรายงานบอกว่า ทุก 30 วินาที สหราชอาณาจักรทิ้งขยะพลาสติกจำนวนเท่ารถเมล์ 2 ชั้น 1 คัน ในเวลาเดียวกันขยะเท่ารถเมล์ 2 ชั้น จำนวน 30 คัน ถูกเผาหรือทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา และคนหนึ่งคนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการจัดการของเสียที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาคือ “วัฒนธรรมการทิ้ง” ของตะวันตก และความจริงที่ว่าพลาสติกประมาณครึ่งหนึ่งถูกใช้เพียงครั้งเดียวก่อนจะถูกทิ้ง และขยะ 93% ในประเทศยากจนจะถูกเผาหรือทิ้ง

ขยะและพลาสติกเหล่านั้นเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะการจัดการขยะไม่ถูกต้องสร้างแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคทั้ง มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไทฟอยด์ โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ

การทิ้งขยะอาจเสี่ยงก่อเกิดแผ่นดินถล่ม หรือแม้แต่การระเบิดจากการสะสมของก๊าซ ขยะพลาสติกปิดกั้นทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วม นอกจากนี้การกำจัดขยะด้วยการเผายังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ พลาสติกบางชนิดเมื่อเสื่อมสภาพจะปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายออกสู่สิ่งแวดล้อม กลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ที่ผ่านมาหลายประเทศสูญเสียอาชีพประมง เพราะขยะพลาสติกทำให้สัตว์ทะเลลดน้อยลง การปศุสัตว์ก็เสียหาย เมื่อสัตว์ที่เลี้ยงไว้อย่างแพะหรือวัวกินพลาสติกเข้าไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทำให้ปะการังถูกทำลาย บางประเทศจึงขาดรายได้จากการท่องเที่ยว

ของเสียซึ่งจัดการอย่างไม่ถูกต้องเป็นปัญหามาเนิ่นนานหลายทศวรรษ และมลพิษพลาสติกก็ตามมาซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น โดยที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีความเข้าใจภัยนี้อย่างเพียงพอ

สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศ (ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย) ร่วมกันลงนามผ่านเพื่อวางแผนลดการไหลของขยะพลาสติกไปยังประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งออกบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวไปยังประเทศซึ่งมีความสามารถในการจัดการขยะอย่างไม่ถูกต้องและเพียงพอ ควรรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกที่พวกเขาสร้างขึ้น แม้จะมีสัญญาณตอบรับจากบางบริษัท ซึ่งพยายามช่วยจัดการกับปัญหา แต่ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่หยดน้ำในมหาสมุทร

รูธ วาเลอริโอ แห่งเทียร์ฟันด์ เรียกร้องให้บริษัทอย่าง Coca-Cola, Nestlé, PepsiCo และ Unilever ผู้ผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวด ซอง ฯลฯ ออกมารับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของพวกเขาตลอดห่วงโซ่อุปทาน และหาวิธีการจัดการของเสีย บริษัทต่างๆ ต้องรายงานจำนวนพลาสติกที่จำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2563 และขอให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2568 แล้วหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เช่น ภาชนะบรรจุที่รีฟิลได้หรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะและเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตรวจสอบการส่งออกของเสียภายในประเทศ ควรจะมีการส่งออกน้อยที่สุด ควรส่งไปยังประเทศซึ่งเหมาะสม และมีความสามารถในการจัดการได้ ที่ผ่านมาประเทศอย่างสหราชอาณาจักรส่งออกขยะมากถึง 6.5 แสนตันต่อปีไปยังประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย

เซอร์เดวิด แอทเทอเบอโรห์ ตัวแทนของ ฟอนา แอนด์ ฟอรา อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาสนใจปัญหาเร่งด่วนที่สุดในวันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตมลพิษพลาสติก ไม่เพียงแต่เพื่อสุขภาพของโลกของเรา แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คนทั่วโลกด้วย

ที่มา : theguardian.com / dailymail.co.uk

Copyright @2021 – All Right Reserved.