ดินเยือกแข็งใกล้ขั้วโลกละลาย
ทำแผ่นดินรัสเซียทรุดไฟป่าพุ่ง

by Igreen Editor

การละลายของชั้นน้ำแข็งถาวรในผืนดินใกล้ขั้วโลก (Permafrost) ไม่ใช่แค่ปัญหาของแถบใกล้ขั้วโลกอีกต่อไป การค้นพบล่าสุด เว็บไซต์ Nature เผยว่า มันส่งผลกระทบไปทั่วโลก

Permafrost คือ พื้นดินที่เยือกแข็งตลอดเวลา โดยปกติแล้วหมายถึงมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองปีขึ้นไป (ที่จริงแล้วมันจะแข็งยาวนานเป็นหมื่น ๆ ปีก็ได้) ประมาณ 15% ของซีกโลกเหนือหรือ 11% ของพื้นผิวโลกอยู่ภายใต้ชั้นดินเยือกแข็งนี้

ด้วยความที่มันแข็งตัวได้เป็นหมื่น ๆ ปี Permafrost จึงมีชีวมวลจำนวนมาก และชีวมวลที่ย่อยสลายได้ซึ่งถูกเก็บไว้เป็นก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ดินใกล้ขั้วโลกกลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่

ในขณะที่ภาวะโลกร้อนทำให้ระบบนิเวศร้อนขึ้น มันทำให้ดิน Permafrost ที่ละลายปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตอนแรกสิ่งที่กลัวกันคือ การละลายของมันจะทำให้พื้นดินทรุด ส่งผลต่อชุมชนในรัสเซียที่สร้างอยู่บนแผ่นดินเยือกแข็ง และยังกลัวกันว่าจะเกิดเชื้อโรคใหม่ ๆ จากการละลายของดินแข็งที่เก็บสะสมเชื้อโรคเมื่อหลายหมื่นปีเอาไว้

รายงานที่เผยแพร่ใน Nature ระบุว่าเกือบ 70% ของถนน ท่อส่งน้ำมัน เมือง และอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซียสร้างขึ้นบนพื้นดินเยือกแข็งที่มีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายเฉียบพลันในช่วงกลางศตวรรษ

นั่นหมายความว่าหากมันละลายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เมืองในรัสเซียถึงกับล่มสลายได้ เราจะเห็นตัวอย่างได้จากหลุมลึกที่เกิดกลางป่าในไซบีเรีย ซึ่งเกิดจากการละลายฉับพลันของ Permafrost

เช่น อาคารประมาณ 80% ในเมืองวอร์คูตากำลังแสดงการเสียรูปทรงอันเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นดินเยือกแข็ง เมืองนี้อยู่เหนือสุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นเมืองที่หนาวที่สุดในทวีปยุโรป ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ที่ -52 องศาเซลเซียส

การยุบตัวของโครงสร้างดินถาวรอย่างกะทันหันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “เทอร์โมคาร์สต์” (thermokarst) แต่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่ามันจะทำให้อาร์กติกมีสภาพเป็นอย่างไรในอนาคต

ตอนนี้ความกังวลไม่ได้จำกัดวงแค่ในรัสเซีย นักวิจัยนำโดย คิมเบอร์ลีย์ ไมเนอร์ นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion ของ California Institute of Technology พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วพื้นผิวดินเยือกแข็งนั้นร้อนขึ้นเกือบ 0.4 องศาเซลเซียส ระหว่างปี 2550-2559

ผลก็คือ “ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราการละลายอย่างรวดเร็วและการปล่อยคาร์บอนเก่าที่อาจเกิดขึ้นได้” และการศึกษาของพวกเขาคาดการณ์ว่า จะสูญเสียพื้นผิวดินเยือกแข็งประมาณ 4 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างมากในทศวรรษหน้า

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงตัวขับเคลื่อนของการหลอมละลายของ Permafrost เท่านั้น แต่ยังมีไฟป่าในแถบอาร์กติกที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ด้วย โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 130% ถึง 350% ภายในกลางศตวรรษ

ข้อมูลจาก
• Marlowe Hood. (January 12, 2022). “Climate change: Thawing permafrost a triple-threat”. phys.org
ภาพ: https://www.flickr.com/photos/139918543@N06/24823171765/

Copyright @2021 – All Right Reserved.