Opinion – มนุษย์เราล้ำเส้น (ธรรมชาติ) แล้วหรือยัง

by Igreen Editor

ทุกอย่างมีขอบเขตของมัน มีเส้นที่ขีดไว้ไม่ให้ล้ำ เหมือนความสัมพันธ์ของคน ถ้าล้ำเส้นขึ้นมาก็อยู่กันไม่ได้ โลกของเราก็เหมือนกัน มีเส้นหลายเส้นที่ถูกตีขึ้่นเพื่อเตือนให้มนุษยชาติระมัดระวังตัวไม่ให้ทำอะไรล้ำขอบเขต

เส้นเตือนของโลกที่ตีขึ้นเพื่อมิให้มนุษย์อย่างเราล่วงล้ำ เรียกว่า Planetary boundaries

ขอบเขตแห่งดาวเคราะห์ (Planetary boundaries) เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับขอบเขตสิ่งแวดล้อมที่เสนอในปี 2552โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระบบโลกและสิ่งแวดล้อมที่นำโดย Johan Rockström จาก Stockholm Resilience Center และ Will Steffen จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อกำหนด “พื้นที่ปฏิบัติการที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติ” เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขอบเขตนี้ยังเป็นตัวบ่งชี้ว่า กระทำของมนุษย์ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

Rockström เตือนเอาไว้ว่าในบทความเรื่อง “Planetary Boundaries: Exploring the Safe Operating Space for Humanity” ไว้ว่า “การละเมิดขอบเขตของดาวเคราะห์หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นอาจเป็นอันตรายหรือถึงกับหายนะ เนื่องจากความเสี่ยงของการข้ามขีดจำกัดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นเส้นตรงและฉับพลันตั้งแต่ภายในทวีปจนถึงระดับสู่ระบบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่”

วิธีการกำหนดจุดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยน คือค่าตัวแปรควบคุมที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น CO2 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ อาจเป็นหายนะการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตอบสนอง เช่น ภาวะโลกร้อน มีผู้กำหนดเริ่มต้นหรือจุดเปลี่ยนเอาไว้หลายคน เช่น

1. ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ (หน่วย ppm)
• ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่ 280 มีค่าเส้นตายที่ 350 ตอนนี้เลยมาอยู่ที่ 412 ตอนนี้ล้ำเส้นไปแล้ว

2. การเพิ่มขึ้นของแรงแผ่รังสี (radiative forcing) ในภูมิอากาศ (หน่วย W/m2)
• ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0 มีค่าเส้นตายที่ 1.0 ตอนนี้เลยมาอยู่ที่ 3.101 ตอนนี้ล้ำเส้นไปแล้ว

3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอัตราการสูญพันธุ์ (จำนวนสปีซีส์ต่อล้านต่อปี)
• ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.1–1 มีค่าเส้นตายที่ 10 ตอนนี้เลยมาอยู่ที่ > 100 ตอนนี้ล้ำเส้นไปแล้ว

แต่ก็ยังมีเส้นตายที่ยังไม่ถูกล้ำ เช่น

1. การเป็นกรดของมหาสมุทรทั่วโลก หรือสถานะความอิ่มตัวเฉลี่ยของแคลเซียมคาร์บอเนตบนผิวน้ำทะเล ปัญหานี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยน้ำมือมนุษย์และถูกเรียกว่า “แฝดนรก แห่งภาวะโลกร้อน” (หน่วยโอเมก้า)
• ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.44 มีค่าเส้นตายที่ 2.75 ตอนนี้เลยมาอยู่ที่ 2.90 ตอนนี้ยังไม่ล้ำเส้น

2. แต่อย่าเพิ่งรีบดีใจไป เพราะการศึกษาในปี 2556 อ้างว่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้นในอัตรา 10 เท่าเร็วกว่าในช่วงใดๆ ในวิวัฒนาการของโลก และในปี 2558 นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล 22 คน ระบุว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเคมีของมหาสมุทรเร็วกว่ายุคไหนๆ ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคมหามรณะ (Permian–Triassic extinction event) ซึ่งเป็นยุคที่เกิดเหตุการณ์การสูญพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

• บางอย่างเรายังไม่ล้ำเส้น แต่มันกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน เมื่อเราล้ำมันแล้วจะเกิด “ยุคมหามรณะ” อีกครั้งหรือไม่เราคงเดาได้ไม่ยาก

Copyright @2021 – All Right Reserved.