7 วิธีลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเริ่มที่ตัวเรา โลกน่าอยู่ก็จะกลับมา

by Chetbakers

มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 จะมีพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าปลาเสียอีก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

หากเราไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อลดมลภาวะจากขยะพลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จะมีพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าปลาเสียอีก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics) ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) แสดงให้เห็นว่าการรั่วไหลของมลพิษพลาสติกสู่ระบบนิเวศทางน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ เศรษฐกิจโลก ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพภูมิอากาศ (1) (2)

“พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นมาให้มีความคงทน แต่เรากลับเลือกที่จะใช้วัสดุอันชาญฉลาดนี้ผิดวิธีและทิ้งไปหลังการใช้เพียงครั้งเดียว – ความสะดวกสบายของพลาสติก ทำให้เรามองไม่เห็นผลกระทบที่มันมีต่อโลก เราจำเป็นต้องนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่ทุกคนจะสามารถเห็นคุณค่าที่แท้จริงของพลาสติกได้” คาคุโกะ โยชิดะ (Kakuko Yoshida) ผู้ประสานงานระดับโลกด้านสารเคมี ของเสีย และคุณภาพอากาศของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุ (2)

เมื่อคุณประโยชน์ของพลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายทำลายโลกอย่างหนัก จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกเป็นอันดับต้น ๆ รวมถึงทุก ๆ คนที่จะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้มีส่วนสร้างมลพิษให้กลายเป็น “พลเมืองสายกรีน” ด้วยการลุกขึ้นมาต่อสู้กับมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งมีคำแนะนำที่ควรนำไปปฏิบัติ 8 ประการ ดังนี้ (1) (2)

1.ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในเบื้องต้นทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและยอมรับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ว่าหมายถึงการที่ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ในการผลิตต้องถูกนำกลับมาใช้ซ้ำแทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งปัจจุบันโลกเดินตามแนวทางนี้แค่เพียง 8.6% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตและการบริโภคให้เดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน ตัวอย่างที่พอจะเป็นไปได้ทันทีอย่างเช่น การใช้แก้วกาแฟ ขวดน้ำ และบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถใช้ซ้ำ แม้กระทั่งผ้าอ้อมและผลิตภัณฑ์อนามัยแบบใช้ซ้ำ แปรงสีฟันไม้ไผ่ สบู่หรือแชมพูแบบก้อนที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรและโลกไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะช่วยลดปัญหาจากสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการลดขยะ 1 กิโลกรัม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 0.8 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (2) (6)

2.พกถุงผ้า Say No ถุงพลาสติก
มีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1 ล้านใบในทุก ๆ นาที หลายประเทศและเมืองต่าง ๆ จึงเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติก เช่น รวันดา, แคลิฟอร์เนีย หรือบ้างก็เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมและภาษี เช่น ไอร์แลนด์, วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อจูงใจให้ลดการใช้พลาสติกและทำจนเป็นนิสัย โดยที่ทุกคนสามารถนำถุงผ้าแบบใช้ซ้ำติดตัวไปซื้อของ (หลีกเลี่ยงถุงไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์เพราะทำจากพลาสติกเช่นกัน) (1)

3.พกพาขวดน้ำส่วนตัว
การพกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำดื่มส่วนตัวจะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าพกใส่กระเป๋า หรือวางไว้บนโต๊ะทำงาน ซึ่งรวมถึงการมีแก้วสำหรับเครื่องดื่มร้อน และเครื่องดื่มเย็นด้วย เพราะถ้าไม่เริ่มปรับที่ตัวเรา นั่นเท่ากับเราเองนั่นแหละที่มีส่วนปล่อยให้ขวดพลาสติกที่ทำจากพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมไปอีกกว่า 400 ปี (1)

4.เลิกใช้หลอดพลาสติก
หลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่พบในมหาสมุทรมากที่สุดทั่วโลก ผู้บริโภคสามารถเลี่ยงการใช้หลอดพลาสติกหรือปฏิเสธมันได้ ไม่ว่าที่บ้าน ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ ด้วยการพกหลอดดูดส่วนตัวไว้ใช้ เช่น หลอดที่ทำจากกระดาษ โลหะหรือหลอดไม้ไผ่ที่ปัจจุบันหาได้ง่ายขึ้น เพื่อจะได้เลิกใช้หลอดพลาสติกไปเลย (1)

5.เลี่ยงการซื้ออาหารที่ก่อขยะพลาสติก
หากวันไหนจะต้องสั่งอาหารกลับบ้านให้เลือกร้านรักษ์โลก หรือไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ย่อยสลายได้ กรณีจัดงานเลี้ยงก็ให้เลือกอุปกรณ์รับประทานอาหารที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น จานหรือแก้วน้ำ ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามใช้จาน ถ้วย และอุปกรณ์พลาสติกซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี 2020 เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยรวมของทางเลือกนี้ก็คือให้พึงระลึกไว้เสมอว่า เราจะมองหาทางเลือกใหม่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้เป็นมิตรกับมหาสมุทรมากขึ้น (1) แต่ถ้าปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ต้องย้อนมาแก้ที่ตัวเรา นั่นคือเลี่ยงการบริโภคอาหารเมนูที่จะสร้างขยะพลาสติกในมื้อนั้น ๆ

6. สร้างทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้า
การเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าบ้านให้น้อยลงจะช่วยลดพลาสติกในชีวิตประจำวันได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเปรย์ระงับกลิ่นกาย ของใช้ส่วนตัวที่มีไมโครบีดส์ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และอาจส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการหลีกเลี่ยงซื้อเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เพราะเมื่อซักจะปล่อยไมโครไฟเบอร์ลงน้ำ ซึ่งในที่สุดอาจไปจบที่มหาสมุทร และอาจกลายเป็นอาหารของปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นในทะเลที่หลงผิดกินเข้าไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร (1) (2)

7.เลิกสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ไม่เพียงเป็นภัยสุขภาพสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่อาจมีคนไม่ทราบว่าก้นกรองบุหรี่นั้นทำมาจากพลาสติกที่เรียกว่า เซลลูโลสอะซิเตท ซึ่งผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกซื้อบุหรี่ประมาณ 6.5 ล้านล้านมวนต่อปี หรือคิดเป็น 18,000 ล้านมวนต่อวัน ฉะนั้นเมื่อก้นบุหรี่ถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่พลาสติกเท่านั้นที่สร้างมลภาวะ แต่ยังรวมถึงนิโคติน โลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมายที่สิ่งแวดล้อมต้องดูดซับไว้ โดยเฉพาะตามแนวชายหาดและในมหาสมุทรซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเล (2) (3) โดยก้นบุหรี่พบได้บ่อยที่สุดในสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติกใส่ของชำ หลอดพลาสติก และไม้คนของเหลวที่ทำจากพลาสติก (4)

8.ความชัดเจนของนโยบายและการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

อย่างไรก็ดี แม้ทั่วโลกจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือที่เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนที่ชัดเจนและให้แรงจูงใจในการหาทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ในขณะเดียวกันต้องได้รับความร่วมมือและความรับผิดชอบจากภาคอุตสาหกรรมในการจัดการผลิตภัณฑ์ในช่วงท้ายอายุการใช้งาน โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ (8)

ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น ความร่วมมืออย่างจริงจังกับผู้รีไซเคิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และนักสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาและดำเนินการโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรณรงค์เพิ่มความตระหนักของสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากมลพิษพลาสติก และข้อดีของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืน และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การสร้างความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะที่ดี เพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (8)

ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในปี 2568 จากรายงานระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ทิ้งขยะลงทะเลรวมกันคิดเป็นกว่า 80% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงทะเลทั่วโลก (5) ประเทศไทยเริ่มประกาศเจตนารมณ์ลดการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2562 โดยดึงภาคเอกชนงดแจกถุงพลาสติก และได้ทำกันมาต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายยากนี้ยังน่าวิตก โดยไทยมีการใช้ถุงพลาสติกอยู่เฉลี่ย 25 นาที ต่อ 1 ใบ ขณะที่ปี 2567 ซึ่งเป็นครึ่งทางของโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 และตั้งเป้าความสำเร็จไว้ภายในปี 2573 โดยในระยะที่ 2 ได้ตั้งเป้าลดการเลิกใช้พลาสติก และรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570 (7)

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ตลอดจนการกำหนดทิศทางและเครื่องมือในเชิงนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างทุกภาคส่วนกับพลาสติกได้ เมื่อการปฏิบัติทำได้อย่างต่อเนื่องเราก็จะเป็นหนึ่งในผู้ลงมือหยุดยั้งมลพิษพลาสติก ในขณะเดียวกันเมื่อการขับเคลื่อนนโยบายเดินเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ ปริมาณมลพิษพลาสติกในระบบนิเวศจะค่อย ๆ ลดลง โลกดี ๆ ที่น่าอยู่ก็จะหวนกลับมา

อ้างอิง:
(1) https://blogs.worldbank.org/en/voices/five-things-you-can-do-end-plastic-pollution
(2) https://www.unep.org/news-and-stories/story/7-ways-you-can-counter-scourge-single-use-plastics
(3) https://www.nationalgeographic.com/environment/article/cigarettes-story-of-plastic
(4) https://www.igreenstory.co/single-use-plastics/
(5) https://www.greenmatch.co.uk/ocean-pollution-facts
(6) https://www.thaipbs.or.th/news/content/340732
(7) https://www.thaipbs.or.th/news/content/341676
(8) https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0301479724008028

Copyright @2021 – All Right Reserved.