แคนาดาวิตกค่า PM2.5 ระดับ 8
ศึกษาพบเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต
เทียบของไทยไม่ติดฝุ่นพิษสูงกว่ากันเยอะ

by Admin

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน “แคนาดา” อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาก แต่พวกเขาก็มีความกังวลว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ดี

การวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับระดับมลพิษทางอากาศทั่วแคนาดาและความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตพบว่า การสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือที่เรียกว่า PM2.5 เป็นเวลานานแม้ในระดับต่ำสุดของอนุภาค เช่น มลพิษทางอากาศระดับจุลภาคจากไฟป่า หรือการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก

ดร.ไมเคิล บราวเออร์ (Dr.Michael Brauer) และทีมวิจัยจาก School of Population and Public Health มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ได้รวมข้อมูลจากดาวเทียม การสุ่มตัวอย่างการตรวจสอบอากาศ และการสร้างแบบจำลองบรรยากาศเพื่อประเมินการสัมผัส PM2.5 กลางแจ้งทั่วแคนาดาตั้งแต่ปี 1981 – 2016 

จากนั้นทีมงานได้ทำการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาอย่างครอบคลุมของผู้ใหญ่ชาวแคนาดา 7.1 ล้านคน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงการสัมผัส PM2.5 ที่แตกต่างกัน เพื่อต้องการระบุความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถตรวจพบความสัมพันธ์กับผลกระทบต่อสุขภาพ

การวิเคราะห์เผยให้เห็นถึงความแตกต่างในการได้รับ PM2.5 ขึ้นอยู่กับพื้นที่อยู่อาศัย ความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองใหญ่ของแคนาดาเฉลี่ยอยู่ที่ 8 – 16 ไมโครกรัม ในขณะที่พื้นที่ชนบทเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

ผลการศึกษาพบว่า การสัมผัส PM2.5 ในระดับความเข้มข้นต่ำที่ 2.5 – 8 มคก./ลบ.ม. ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิต เนื่องจากสาเหตุต่างๆ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดบวม โรคทางเดินหายใจ และปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ในปัจจุบันแคนาดาตั้งค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 8.8 มคก./ลบ.ม. ถึงแม้จะต่ำกว่าค่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาที่แนะนำความเข้มข้นที่ 12 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งปรับหลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยประจำปีที่ 5 มคก./ลบ.ม. แต่ถึงอย่างไร ซึ่งบราวเออร์ก็เห็นว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ระดับ 2.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเขาและทีมพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ไทยพึ่งมีการกำหนดมาตรฐาน PM2.5 ใหม่ จากเดิมค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.ปรับเปลี่ยนลงมาเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2023 และค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ลดลงเหลือ 15 มคก./ลบ.ม.

การศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาขั้นสุดท้ายในชุดการศึกษาสามชิ้นที่ได้รับทุนจาก Health Effects Institute (HEI) เพื่อสำรวจผลกระทบด้านสุขภาพจากการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลแนะนำในระยะยาว อีกสองรายงานดำเนินการในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง

  • 2022 “Mortality–Air Pollution Associations in Low-Exposure Environments (MAPLE): Phase 2”, published today in a Health Effects Institute (HEI)
  • Jul 14, 2022, “Even low levels of air pollution contribute to increased health risk.” The University of British Columbia News.
  • “Health Impacts of Air Pollution in Canada: Estimates of morbidity and premature mortality outcomes – 2021 Report.” Government of Canada

Copyright @2021 – All Right Reserved.