Seed of the Earth

การฟื้นผืนดินบ้านเกิดไร้ชีวิต กลับคืนเป็นป่าดิบชื้น ในเวลาสิบกว่าปีของคู่สามีภรรยาช่างภาพชื่อดังของโลก Sebastiao และ Lelia Salgado

หลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้ดูสารคดีชีวิตและผลงานของช่างภาพชื่อดังของโลก Sebatiao Salgado มีคนพยายามนิยามช่างภาพคนนี้ บ้างว่าเป็น photojournalist หรือเป็น anthropologist photographer บางคนมองว่าเป็น activist photographer ฯลฯ

แต่เขามองตัวเองเป็นมากกว่านั้น

“การถ่ายรูปคือชีวิตของผม ผมใช้ชีวิตทั้งหมดในการถ่ายรูป”

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในงานของ Salgado คือ เขาจะทำโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปี บางโปรเจกต์เกือบสิบปี

ในภาพยนตร์สารคดี Salt of the Earth (ที่ลูกชายคนหนึ่งของเขาร่วมผลิตด้วย) เปิดฉากด้วยภาพบนเนินเขาที่เขียวฉอุ่ม เสียงนก เสียงลมไหว เสียงไพรบรรเลง

ภาพตรงหน้า งามราวสรวงสวรรค์

Salgado ในวัยใกล้ 70  บอกว่าธรรมชาติอันอุดมตรงหน้า คือภาพที่เห็น บรรยากาศที่สัมผัสตั้งแต่เกิด เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งเหล่านี้

หนังเล่าย้อนไปถึงถิ่นเกิดวัยเด็ก ฟาร์มแห่งหนึ่งที่อยู่ล้อมรอบด้วยผืนป่าดิบชื้น แถบตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล

พออายุ 15 เข้าไปในเมืองเพื่อเรียนหนังสือ ขณะนั้น บราซิลเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม เขาเริ่มรู้จักการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย กลายเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง

“สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตผมเกิดขึ้น ผมพบผู้หญิงน่าทึ่งคนหนึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดชั่วชีวิต และเป็นผู้ร่วมในทุกสิ่งที่ผมทำ จวบจนวันนี้ เธอคือภรรยาผม Lelia Wanick Salgado

ในที่สุดเมื่อสถานการณ์เขม็งเกลียวขึ้น จึงตัดสินใจอพยพออกจากบราซิล ไปฝรั่งเศส และเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์

ชีวิตจนถึง ณ จุดนั้น ไม่ได้มีภาพถ่าย หรือการถ่ายภาพเป็นส่วนเสี้ยวเลย จนวันหนึ่ง ภรรยา ซึ่งร่ำเรียนด้านสถาปัตยกรรม ซื้อกล้องถ่ายภาพมา เขาเริ่มสัมผัส เรียนรู้ ทดลอง ฝึกฝน … รู้ตัวอีกทีก็รักไปแล้ว

ไม่นานนัก เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ ทุ่มชีวิตทั้งหมดให้การถ่ายภาพ

ในเรื่องพาเราเดินทางตามรอยภาพของ Salgado ผ่านไปในโปรเจกต์ต่างๆ ภาพชุดเหมืองทองอันลือเลื่อง โปรเจกต์ Africa บันทึกชีวิตในทวีปที่เป็นดั่งบ้านอีกหลังของเขา โปรเจกต์ Other Americas สำรวจทวีปบ้านเกิดของตัวเขาเองอีกครั้ง หลังลี้ภัยไปหลายสิบปี

เหมืองทอง

ชุดที่ดังมาก คือ workers ที่สดุดีแรงงานของโลก เขาออกเดินทาง เพื่อบันทึกภาพคนงานในภาคการผลิตขนาดใหญ่ๆ ทั่วทุกมุมโลกออกมาอย่างตระการตา

ต่อจากนั้น เขาบันทึกผลพวงของโลกาภิวัตน์ ผ่านการเคลื่อนย้ายแรงงาน และอพยพถิ่นฐานของผู้คน ในโปรเจกต์ Migrations / Exodus

ค่ายผู้ลี้ภัยชาวรวันดา (แทนซาเนีย, 1994)

ณ จุดหนึ่งในโปรเจกต์นั้น นำพาเขาเข้าไปกลางสถานการณ์ฆ่าฟันอันเหี้ยมโหดที่ Rwanda บางวันเขาเห็นคนถูกฆ่าตายเป็นพันคน

“ผมสิ้นศรัทธาในมนุษยชาติ ..”

และจู่ๆ เขาก็ป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุ

หมอวินิจฉัยว่าเขาเห็นความตายมากเกินไป มันกระแทกจิตใจ และส่งผลถึงร่างกาย

“ผมตัดสินใจ หยุดโปรเจกต์นั้น”

เขาหัวเสียมากๆ กับการถ่ายภาพ และตัดสินใจกลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิด

กลับไปที่บ้าน เขาพบกับพ่อและแม่ในวัยชรามาก

Salgado มีน้องสาวเจ็ดคน เขาเป็นผู้ชายคนเดียว พ่อแม่ตัดสินใจโอนที่ให้เขาและภรรยา

“ตอนได้ที่ดินผืนนี้มา มันแห้งแล้ง ไร้ชีวิต … เหมือนผมนี่ล่ะ”

“ตอนผมเด็กๆ มีป่าดิบชื้นเกิน 50% ของพื้นที่ฟาร์ม … แต่ตอนที่ผมกลับมา ป่าเหลือไม่ถึง 0.5%”

ธรรมชาติงามอุดมดุจสรวงสวรรค์สลายสาบสูญ

ช่างน่าหดหู่ใจใกล้เฉาตายของเขา กลับมาพบสภาพบ้านเกิดที่รวยรินไม่แพ้กัน

“ทำไมเราไม่ฟื้นป่าดิบชื้น ให้คืนกลับเป็นแต่ก่อนล่ะ”

ภรรยาผู้กล้าแกร่ง เสนอไอเดียที่ทั้งเขา และหลายคนคิดว่า ‘บ้า’

“คุณบอกว่าคุณเกิดมาในสรวงสวรรค์ งั้นก็มาสร้างสวรรค์ ขึ้นมาใหม่กันเถอะ”

ทั้งคู่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ตัดสินใจลองดู

เขาไปขอความช่วยเหลือ Renato de Jesus ผู้เชี่ยวชาญการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ

6 เดือนหลังจากที่ Renato มาเยี่ยมฟาร์ม ตรวจสอบสภาพพื้นที่ และคุณภาพดิน … เขากลับมาพร้อมแผนการ

แผนในการปลูกต้นไม้ใหม่ 2,500,000 ต้น!

และเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิด ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ (biodiversity) ต้องมีพันธุ์ไม้อย่างน้อย 200 ชนิด เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่ใกล้เคียงธรรมชาติเดิม

ทั้งคู่ไม่มีเงินทุน แต่ด้วยความที่ Salgado เคยทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ สมัยจบเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ ก่อนเริ่มถ่ายภาพ (และจริงๆ ตอนถ่ายภาพ หลายโปรเจกต์ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งในโลก) เขาจึงใช้คอนเนคชั่นจากทางนั้น เพื่อหาลู่ทางระดมทุน

เขาบินไปวอชิงตัน ไปติดต่อเวิลด์แบงก์ ทุกคนที่ได้ฟังไอเดียของเขาคิดว่าเขาบ้าไปแล้ว … แม้ยังไม่ได้เงิน แต่เขาได้รับคำแนะนำ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายนักสิ่งแวดล้อมของบราซิล ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่เกือบทุกคนพำนักอยู่ในรัฐเดียวกับเขาพอดี (Minas Gerais – มีนัสเชไรส์)

คนหนึ่งซึ่ง Salgado ค้นพบ และคิดว่า “บ้า” ไม่แพ้เขาและภรรยา คือ Celio Murilo Vale ผู้อำนวยการอุทยานและป่าไม้ แห่งรัฐมีนัสเชไรส์

ผอ.ท่านนี้ ฟังเรื่องราวอย่างสนใจสุดๆ และสัญญาจะช่วยเหลือ … ท่านผู้อ่านเดาได้ไหม ว่า ผอ.จะช่วยอะไร

ครับ เขาช่วยประกาศให้พื้นที่ฟาร์มของ Salgado กลายเป็น ‘อุทยานแห่งชาติ’ (national park)

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบราซิลที่มีการสร้างอุทยานแห่งชาติบนพื้นดินที่แห้งเปล่า … ทว่าทั้งหมดวางอยู่บนฐานคำสัญญา ว่าจะปลูกป่าขึ้นมาใหม่ โดยใช้พันธุ์ไม้พื้นถิ่น

การเดินหน้าหาทุน ทำไปพร้อมๆกับการเริ่มปลูกต้นไม้

โรงเรือนเพาะชำ ศูนย์เรียนรู้ องค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่ เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับ

ปีแรก ต้นไม้ที่ปลูกตายไปเยอะมาก

ปีที่สอง เริ่มตายลดลง

ไม่นานเกินรอ ผืนดินเริ่มฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง…อย่างน่าอัศจรรย์

“เราสร้างสถาบัน Instituto Terra สร้างโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ เราระดมทุนจากทุกที่ ไม่ว่าจากแอลเอ จากซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย จากสเปน จากอิตาลี ในบราซิล เราทำงานกับหลายองค์กรธุรกิจ หลายหน่วยงานรัฐ”

เขาเชื่อว่า พวกเขาทำมันในบราซิลได้ ที่อื่นในโลกก็ทำแบบนี้ได้

มนุษย์ต้องเร่งมือกันฟื้นคืนป่า ซ่อมระบบนิเวศให้กลับมาให้เร็วที่สุด มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

และมนุษย์เราแต่ละคน ก็มีศักยภาพทำได้จริงๆ

“เมื่อชีวิตเริ่มฟื้น ผมอยากกลับมาถ่ายรูปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ผมไม่ได้ต้องการถ่ายรูปมนุษย์อย่างที่เคยเป็นมา ผมต้องการถ่ายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ต้องการถ่ายทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ต้องการถ่ายพวกมนุษย์เรา แต่เป็นพวกมนุษย์เรากลุ่มที่อยู่อาศัยอย่างเสมอ และสมดุล กับธรรมชาติ”

ผมอยากให้ดูรูป ซึ่งถูกนำมาใช้ในฉากหนึ่งในหนัง

รูปแรกคือ ปี 2001 ที่พวกเขาเริ่มปลูกป่า

(กลางภาพ คือศูนย์เรียนรู้ และโรงเพาะชำ)

หลังจากนั้น 12 ปี … ปี 2013 …

มันน่าทึ่ง

แต่เกิดขึ้นแล้ว จริงจริง

Copyright @2021 – All Right Reserved.