ชาวออสซี่ตั้งกลุ่มกอบกู้โลก
แบ่ง ‘ของที่ยังดีอยู่’ ให้คนอื่น
นำไปใช้ต่อช่วยลดการทิ้งขยะ

by Igreen Editor

Street Bounty เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนท้องถิ่นในออสเตรเลีย (รวมถึงประเทศอื่น ๆ ก็มี) สามารถแลกเปลี่ยนสิ่งของที่พวกเขาจะทิ้งโดยที่มันยังมีสภาพที่ดีเกินกว่าจะทำให้เป็นขยะรกโลก ด้วยคำขวัญว่า “ของที่ดีเกินกว่าจะทิ้งลงในบ่อขยะ คือสมบัติจากริมถนน”

ด้วยแนวคิด “กอบกู้ ช่วยลด และใช้ใหม่” พวกเขาจะกู้สิ่งของที่จะถูกทิ้งเพื่อลดขยะในประเทศ ซึ่งออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการทิ้งขยะต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขั้นตอนก็คือผู้ที่สนใจจะแลกเปลี่ยนหรือนำเสนอสิ่งของที่พวกเขาคิดว่าเป็น “สมบัติจากริมถนน” (Street Bounty) ลงในเว็บไซต์

Street Bounty จะมีกลุ่มเฟซบุ๊กในท้องที่ต่าง ๆ เช่น ในเมืองซิดนีย์จะบอกย่านแหล่งที่จะนำของมาทิ้งมาบอกกล่าวกันแล้วโพสต์ในกลุ่ม อัพโหลดภาพสิ่งของ และแจ้งพิกัด หรือบอกจุดที่พวกเขาพบเห็นการทิ้งสิ่งของที่ยังใช้ได้ในบริเวณนั้นเพื่อให้ผู้สนใจไปเก็บแล้วนำมาใช้ต่อ

ลิงก์ของกลุ่มเฟซบุ๊กตามเมืองและย่านในเมืองเหล่านี้จะถูกรวบรวมเอาไว้ในเพจ www.streetbounty.com.au ในตอนนี้มีศูนย์กลางการแชร์ที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณรัฐนิวเซาท์เวลส์หรือแถบเมืองซิดนีย์และมากน้อยหลดหลั่นกันไปจำนวนประชาชกรในแต่ละรัฐ

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ Darebin Hard Rubbish Heroes เป้าหมายหลักของกลุ่มคือการบันทึกสิ่งของและวัสดุที่ใช้ได้จากการฝังกลบโดยช่วยให้ชาวเมืองแดร์บิน รัฐวิกทอเรีย หาบ้านใหม่สำหรับสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการอีกต่อไป ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก มีสมาชิก 1,000 คนในสัปดาห์แรกและสมาชิก 4,000 คนอีก 1 เดือนต่อมา

นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันของที่ยังใช้ได้แล้ว กลุ่มนี้ยังไปอีกขั้นด้วยการนำของที่ได้มาไปรีไซเคิล เช่น ทำของใช้ในงานปาร์ตี้จากสิ่งของบริจาคที่สามารถให้ยืมได้ฟรี เพื่อใช้เสร็จแล้วก็ให้ผู้ใช้บริการส่งคืนพร้อมทำสะอาดและพร้อมใช้งานอีกครั้ง และสิ่งของที่สูญหายหรือเสียหายจะมาแทนที่เพิ่มเติม

แนวคิดเรื่อง “ของใช้ในงานปาร์ตี้” (Party Kit) คล้าย ๆ กับคนต่างจังหวัดในประเทศไทยที่ไปขอยืมอุปกรณ์เครื่องใช้จากสำนักงานบริหารท้องถิ่นหรือจากวัดมาใช้ในงานเลี้ยงใหญ่ ๆ นั่นเอง ที่ออสเตรเลียถึงกับมีเครือข่าย The Party Kit Network เพื่อให้ผู้คนได้แบ่งปัน หยิบยืม ของใช้พวกนี้โดยไม่ต้องซื้อ เพื่อการฉลองปาร์ตี้แบบยั่งยืน

เป้าหมายของ The Party Kit Network คือเพื่อจะป้องกันไม่ให้พลาสติกและกระดาษสำหรับปาร์ตี้จำนวนมากเข้าสู่สิ่งแวดล้อมโดยการจัดหาทางเลือกให้กับผู้จัดปาร์ตี้ ในขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักรู้ว่าการใช้ซ้ำได้ง่ายกว่า ถูกกว่า และสนุกกว่ามากด้วย โดยเครือข่ายนี้ตั้งขึ้นในอังกฤษในปี 2019 และมาถึงออสเตรเลียในปี 2020

สิ่งของที่ยังดีที่พร้อมส่งต่อการใช้ซ้ำในอังกฤษ

กลุ่มเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของภาคประชาชน แต่มันสวนทางกับกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งที่ออสเตรเลียมีกฎหมายที่ค่อนข้างหนักสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการกำจัดขยะชิ้นใหญ่ แม้ว่าประชาชนจะต้องการแลกเปลี่ยนมันเพื่อไปใช้ต่อไปก็ตาม

เช่น สภาเทศบาลเมืองแดร์บิน มีบริการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ตามฤดูกาล 2 ครั้งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว แต่ขู่ว่าจะถูกปรับ 300 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่หยิบสิ่งของเหล่านั้นไป ในเมืองพอร์ตฟิลลิป ค่าปรับอยู่ที่ 660 ดอลลาร์ แต่ถึงจะมีกฎเหล่านี้ ผู้คนก็ยังรวมกลุ่มกันเพื่อแหกกฎ เพราะพวกเขาคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง

ข้อมูลจาก
• https://www.streetbounty.com.au
• https://www.darebinhardrubbishheroes.org/about
• https://www.partykitnetwork.org/about-us
• Caitlin Cassidy. (4 Feb 2022). “Australia’s hard rubbish heroes risk council fines to recycle and re-home their kerbside plunder”. Guardian.

Copyright @2021 – All Right Reserved.