นายกฯ ย้ำผ่านเวที TCAC  
ไทยเดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2065
ผอ.กรีนพีซซัดแค่จัดพื้นที่โชว์
ฟอกเขียวอุตสาหกรรมฟอสซิล?

by Admin

“ประยุทธ์” กล่าวยืนยันเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลจะที่ผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเป็นประธานการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference ) หรือ TCAC ภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 ส.ค. 2565 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักรู้ และตื่นตัวให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย net zero ร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวยืนยันเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล และผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065 มุ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกหลักในการสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนา ครอบคลุม 3 องค์ประกอบที่สำคัญ

นั่นคือ การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับตัวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ย้ำว่า ผลลัพธ์ที่แท้จริงคือ ความมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในวันนี้ และชีวิตที่ดีของลูกหลานเราในวันข้างหน้า โดยไทยพร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้เพื่อลูกหลานในอนาคต ซึ่งไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีกับไทยเสมอมา

“การจัดการประชุม TCAC ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเสริมสร้างพลังระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งประเทศในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลของไทยและของโลกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การจัดประชุม TCAC ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้กับทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และพี่น้องประชาชน รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ

ยืนยันว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำแผนงานมาบูรณาการร่วมกัน และกระจายลงไปสู่กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนลงไปถึงระดับภูมิภาคจนถึงระดับชุมชนสู่การปฏิบัติได้จริง โดยผลจากการประชุมในครั้งนี้จะถูกนำไปประกาศต่อในที่ประชุม COP27 ณ ประเทศอียิปต์ ในช่วงปลายปีต่อไป

ขณะที่ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก Tara Buakamsri ตอนหนึ่งว่า คำว่า ‘Net Zero’ นี้ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในการเปิดโอกาสให้ผู้ก่อมลพิษใช้เป็นกลอุบายได้อย่างมากมาย เพราะการชดเชยคาร์บอนไม่ได้หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา ซึ่งไม่ต่างจากการตกแต่งบัญชีซักเท่าไร

อีกทั้งผู้สนับสนุนการจัดงานประชุมครั้งนี้คือกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งสิ้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ‘Net Zero’ ในที่นี้คือการฟอกเขียวหรือไม่?! การประชุมครั้งนี้ประชาชนจะได้อะไรไหม นอกจากคำพูดที่ไร้คำมั่นสัญญาที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ หรืออาจเป็นเพียงแค่พื้นที่โชว์ ‘การฟอกเขียว’ ของอุตสาหกรรมฟอสซิลต่อไป

นอกจากนั้น นายธารา กล่าวด้วยว่า “ผมก็ยังยืนยันว่า อีเวนต์แบบนี้ ไม่ใช่การเอารูปแบบ conference of parties มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกของโลกตามที่คุณวราวุธ ศิลปอาชา โฆษณา และนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาอ่านตามสคริปต์ อีเวนต์แบบนี้เป็นได้เพียงการออกร้านโชว์ greenwash ของอุตสาหกรรมฟอสซิล ผ่านการสปอนเซอร์ และ CSR เท่านั้น

“ชื่อของอีเวนต์ก็ mislead ควรจะใช้ชื่อว่า Business Forum on Carbon Market จะตรงกว่า สบายใจกว่าเยอะ ท่านจะได้ไม่ต้องโกรธเมื่อนักข่าวตั้งคำถามแรงๆ ว่า ทำไมไม่มีภาคประชาชน ท่านก็สามารถตอบได้ว่า ก็นี่มันเป็น Business Forum “Climate Action หรือปฏิบัติกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องเปิดให้มีพื้นที่(space) ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นประชาธิปไตย(civic space/democratic space) ซึ่งรัฐข้าราชการ/เทคโนแครตไทยไม่แคร์ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ใช้ช่องว่างที่มีอยู่แสวงกำไร ภาคประชาชนกลายเป็น trouble maker เป็นอุปสรรคขัดขวางการการดำเนินการ “ฟอกเขียว” คาร์บอน หรือ การดำเนินการที่เป็นไปตามปกติ (business as usual)

“มีบู๊ตจัดนิทรรศการบางบู๊ตในงาน TCAC มี business model ที่มีความยั่งยืนจริงๆ แต่ก็ถูกบดบังด้วย “กระแสฟอกเขียว” ของอุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่

“มีบู๊ตของเยาวชนจากเครือข่ายที่สร้างขึ้นโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่มุมหนึ่ง เท่าที่เห็น คำถามคือ ทำไมเยาวชนเป็นได้เพียงไม้ประดับในงานนี้ พื้นที่ของเขาในงานที่ถูกออกแบบมาเช่นนี้มีน้อยมาก พวกเขามีศักยภาพและพลังได้มากกว่านี้ พวกเขาชาญฉลาดกว่าผู้ใหญ่ที่ร่วมจัดงานนี้ด้วยซ้ำไป

“ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีไร้พลัง ไม่มีแรงบันดาลใจอะไร พูดถึงอนาคตแต่ก็ไม่เห็นอนาคต พูดเนิบนาบไปตามสริปต์ ต้องเงี่ยหูฟังเพราะห้อง Royal Paragon มีความ echoแ(ยังกะจัดเวทีคอนเสิร์ต) สรุปคือ ฟังไม่รู้เรื่อง ช่วงที่ peak สุดคือ นายกฯ มอบลูกโลกจำลองให้เด็กสองคนบนเวที เป็นนัยว่า ได้ส่งมอบอนาคตให้กับคนอีกรุ่น

“อนาคตที่ส่งมอบจะเป็นอย่างไร หาก Climate Action กลายเป็นวาทกรรมของฝ่ายรัฐและอุตสาหกรรมในการดำรงไว้ซึ่งสถานะที่เป็นอยู่ (status quo) ของพวกตน “พูดกันตลอดว่า ประเทศไทยเสี่ยงสูงต่อผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่มีเวทีที่พูดถึง “ความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) ซึ่งคิดเป็นตัวเลขหลายแสนล้าน หรือมากกว่า 10-20 % ของ GDP”

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Net Zero ได้ที่ https://act.gp/3vHKkHh

Copyright @2021 – All Right Reserved.