เทือกเขาสูง 5,000-6,000 ฟิต
พายุเดินทางข้ามได้ไม่ยาก
เปรียบเสมือนแค่ ‘ลูกระนาด’

by Admin

เพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ ซึ่งรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 และสภาพภูมิอากาศ ระบุเมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยเปิดเรื่องว่า พายุไต้ฝุ่นเดินทางข้ามภูเขาได้หรือไม่?

โดยบอกว่า…ตรงข้ามกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ยอดพายุนั้นมีความสูงราว 50,000 ฟิต ทำให้สามารถเดินทางข้ามเทือกเขา 5,000-6,000 ฟิตได้ไม่ยากเย็นเท่าไร

ลมที่พัดเหนือแผ่นดินนั้นจะประสบกับความฝืดมากกว่าเหนือมหาสมุทรมาก ความเร็วจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากลมที่พัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่งจะชะลออย่างรวดเร็ว ยิ่งมีภูเขากั้นยิ่งฝืดเข้าไปใหญ่

ปัจจัยใดเป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือลดกำลังของพายุ? …พายุนั้นคือเครื่องจักรที่กินพลังงานมหาศาลเข้าไปแล้วปลดปล่อยพลังงานเหล่านั้นเป็นความร้อนและพลังงานลม พายุต้องการเชื้อเพลิงใหม่ๆ จำนวนมากตลอดเวลา จากอากาศร้อนชื้นเหนือมหาสมุทรอุ่นๆ ปัจจัยที่ขัดขวางการเติมเชื้อเพลิงใหม่ๆเข้าในพายุนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว

พายุข้ามภูเขาในเกาะลูซอนได้ไม่ยาก…พายุไต้ฝุ่นสามารถข้ามภูเขาในเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ได้ไม่ยาก เหมือนกับที่เกิดขึ้นอาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากเกาะนั้นมีน้ำอุ่นล้อมรอบ สามารถเติมเชื้อเพลิงให้กับพายุได้ตลอดเวลา เมื่อข้ามเกาะมาแล้วก็จะได้เชื้อเพลิงใหม่ๆ จากทะเลจีนใต้ จะทวีกำลังขึ้นได้ไม่ยาก…แค่ใกล้ฝั่งก็ลดกำลังแล้ว

สำหรับโนรูเมื่อเข้าใกล้ฟิลิปปินส์กลายเป็นไต้ฝุ่นระดับ 5 แต่เมื่อเข้าใกล้ฝั่งเท่านั้นก็ลดกำลังลงแล้ว เนื่องจากการเติมอากาศร้อนชื้นทำได้ยากขึ้นบริเวณหน้าพายุ ยิ่งเข้าใกล้ฝั่งเท่าไรก็จะยิ่งลดกำลังลงโดยไม่ต้องมีภูเขามากั้นขวาง และเมื่อตาพายุมาถึงฝั่งจะเหลือพื้นที่เติมเชื้อเพลิงได้แค่หลังพายุเท่านั้น เรียกได้ว่าการเติมพลังงานนั้นหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง

เมื่อข้ามฟิลิปปินส์มาได้อากาศร้อนชื้นในทะเลจีนใต้ โนรูกลายเป็นพายุไต้ฝุ่ระดับ 4 อีกครั้ง แต่เมื่อเข้าใกล้ฝั่งเวียดนาม ก็ลดกำลังลงอีกครั้งจากเหตุผลเดียวกัน

เมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง land mass
การขึ้นฝั่งเข้า land mass ใหญ่ๆ แบบคาบสมุทรอินโนจีนนั้น พายุจะขาดเชื้อเพลิงใหม่อย่างรวดเร็ว และจะลดกำลังลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ยิ่งกว่าการข้ามเกาะ

สรุป

เทือกเขาระดับ 5,000-6,000 ฟิตนั้นเปรียบเหมือนกับ “ลูกระนาด” ที่อาจจะทำให้พายุสะดุดบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เป็นปราการสะกัดพายุไว้ได้ เนื่องจากพายุนั้นมีความสูงกว่าเทือกเขามากกว่า 10 เท่า

ตรงข้ามปัจจัยหลักที่ทำให้พายุอ่อนกำลังลงและสลายไปในที่สุดคือ การขาดพลังงานจากเชื้อเพลิงอากาศร้อนชื้น แม้ไม่มีภูเขา พายุก็จะสลายไปเองได้ แต่จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่หากมีภูเขามาช่วยกั้นลดไว้บ้าง

อย่างไก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเพจว่า พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา

นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด
โนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้

แล้วโนรูตายที่ไหน ?

คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย

อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา

อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชั่น

แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้ อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน

เป็นถิ่นที่อยู่ของ “ซาวลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม

อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุขและนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีน เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย

และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม

ที่มา:

https://www.facebook.com/farfoon.th/posts/pfbid02XwzwvUqgkunw7DNsM6Hhkj4fREXbFUmstL55NcguHH733DQQ6zaRvrpeEa2m22wbl
https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/pfbid0Rt8FzhyzypcgyP3372nKi2EKyBjyCfWTFMT4mmDv4qygxABiyUK93e3LhVczb5DRl

Copyright @2021 – All Right Reserved.