ผักตบชวาพืชที่น่ารำคาญ
รู้มั๊ยช่วยดูดซับมลพิษทางน้ำ

by Igreen Editor

ผักตบชวาเป็นพืชรุกรานท้องถิ่นที่ร้ายที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก เพราะมันเติบโตเร็วจนแน่นทางน้ำ ในเวลาแค่ 1 เดือน ถ้ามีแค่ 10 ต้นมันจะขยายพันธุ์ได้มากถึง 40,000 ต้น และถือเป็นพืชน้ำที่สร้างความรำคาญใจให้กับคนไทยมาหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อเสียมากมายแต่ผักตบชวาก็ยังมีประโยชน์ที่คาดไม่ถึง เพราะสามารดูดซับน้ำมันได้มากถึง 10 เท่าของน้ำหนักตัวมัน Green Keeper Africa บริษัทนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในประเทศเบนินเห็นประโยชน์นี้จึงนำผักตบมาทำเป็นเส้นใยดูดซับมลพิษที่เรียกว่า Gksorb

เส้นใย 1 กรัมของมันสามารถดูดซับน้ำมันได้ถึง 6 – 10 กรัม และเส้นใยที่แปรรูปแล้วสามารถดูดซับได้มากว่าน้ำหนักตัวของมันถึง 12 – 17 เท่า พลังดูดซับของมันมีประสิทธิภาพสูงมากและใช้ได้กับของเหลวทุกประเภทตั้งแต่สีย้อมไปจนถึงน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงหนัก โดยที่ตัวมันเองยังเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% และสามารถย่อยสลายได้

Gksorb ถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น GK-FS1, 5 สามาถใช้ทำความสะอาดการปนเปื้อนแหล่งน้ำเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเคมี หรือน้ำมันรั่วไหล และยังนำมาใช้ทำความสะอาดที่บ้านหรือร้านอาหารได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมี K-GKA3 kit เป็นชุดอุปกรณ์ในการดูดซับสิ่งปนเปื้อนได้มากถึง 62 ลิตร ช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์การรั่วไหลระดับปานกลางได้อย่างรวดเร็วสำหรับการใช้งานในสถานีบริการ หรือเวิร์กช็อป

ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาในด้านต่าง ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไล่ตามการขยายพันธุ์รบกวนแหล่งน้ำไม่ทัน แต่ข้อดีจากการวิจัยพบว่า ผักตบชวามีประสิทธิภาพในการกำจัดไนโตรเจน 60–80% และโพแทสเซียมประมาณ 69% ออกจากน้ำ

อีกทั้งรากผักตบชวาสามารถดูดซับมลพิษ อาทิ ตะกั่ว ปรอท และสตรอนเทียม-90 รวมทั้งสารประกอบอินทรีย์บางชนิดที่เชื่อว่าเป็นสารก่อมะเร็งในความเข้มข้น 10,000 เท่ามากกว่าในน้ำโดยรอบ

สำหรับการใช้ประโยชน์ในประเทศไทยที่แรกคือใช้บำบัดด้วยผักตบชวาในบึงมักกะสัน ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration)

ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ผักตบชวามีฉายาว่า “ความวินาศแห่งเบงกอล” (terror of Bengal) เป็นพืชท้องถิ่นของแอมะซอน แต่ถูกนำมาที่เบงกอลของอินเดียในฐานะไม้สวยงาม แต่หลังจากนั้นไม่นานมันก็แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วจนแหล่งน้ำในเบงกอลพังพินาศ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบงกอลไม่แตกต่างจากไทย เพราะเราก็นำผักตบชวาเข้ามาในฐานะพืชสวยงามเช่นกัน จนตอนนี้กลายเป็นวัชพืชที่ทำให้แหล่งน้ำขี้ริ้วขี้เหร่และยังเป็น “ขยะ” อย่างหนึ่ง บางทีน้ำท่วมที่สาหัสในบ้านเราก็อาจมีสาเหตุมาจากผักตบขวางทางน้ำด้วย

นอกจากเมืองไทยแล้วที่ทะเลสาบโตนเลสาบในกัมพูชาก็เจอปัญหาจากผักตบอย่างมาก เช่นเดียวกับทะเลสาบวิกตอเรียในแอฟริกาตอนนี้อาการสาหัสมาก ซึ่งจากการศึกษาทำให้มีความรู้มากขึ้นด้วยว่าขณะที่ผักตบชวาดูดซับมลพิษได้ดีมากก็เพราะมันชอบมลพิษนี่เองจึงทำให้มันเติบโตเร็ว โดยการเพิ่มมลพิษโลหะหนักในทะเลสาบวิกตอเรียเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันกระจายตัวอย่างรวดเร็ว

ในบ้านเรามีการใช้ผักตบมาทำประโยชน์อยู่เหมือนกัน เช่น ทำปู๋ยหมักปลูกพืช ทำผลิตภัณฑ์จักสาน ฯลฯ และถ้าให้ดีก็ควรนำมันมาใช้แบบ Gksorb แทนที่จะฟันมันทิ้งให้ยากลำบากก็นำมาแปลงให้เกิดประโยชน์กับแหล่งน้ำที่ยั่งยืน แต่ก็ต้องใช้ความสามารถในการควบคุมมันให้อยู่ในวงจำกัดด้วย

ข้อมูลจาก
• “Le GK SORB” จาก https://greenkeeperafrica.com
• “This is one of the most invasive aquatic plants in the world”. (October 13, 2021). Brut nature.
• Wikipedia contributors. “Eichhornia crassipes.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Oct. 2021. Web. 14 Oct. 2021.

Copyright @2021 – All Right Reserved.