ชงตั้ง ‘กระทรวงทรัพยากรน้ำ’
แก้ปัญหาทั้งระบบรับมือโลกรวน

by Igreen Editor

สอวช. ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ เสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เน้นบูรณาการทำงานเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ผลการศึกษานี้เสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” ที่คำนึงหลักการสากล ทำงานเชิงแนวดิ่งและแนวนอน มีนวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการทำงานเชิงระบบ เพื่อแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างก้าวกระโดด แบ่งประเภทของหน่วยงานตามภารกิจหลักให้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ต้องปรับบทบาทหน้าที่ อำนาจ และโครงสร้าง ลดการทำงานที่ทับซ้อน เพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นเอกภาพ และสร้างหน่วยงานอัจฉริยะ หรือ “สำนักงานเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรมด้านบริหารจัดการน้ำ” เพื่อเป็นมันสมองให้กับกระทรวงฯ ใช้รับมือกับปัญหาปัจจุบัน และความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างเท่าทันและเชิงรุก

ผลการศึกษาตัวชี้วัดสากลด้านความมั่นคงด้านน้ำ ภายใต้กรอบ Asian Water Development Outlook 2020 (AWDO) หนึ่งในตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยที่มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ในมิติความมั่นคงด้านภัยพิบัติจากน้ำอยู่ในระดับ 2 จาก 5 ระดับ หมายถึงมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการพัฒนาระบบที่มีอยู่

จากการวิเคราะห์ตามตัวชี้วัด Water Security และ Water Governance สามารถบ่งชี้ได้ระดับหนึ่งว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันอาจยังไม่บูรณาการเพียงพอต่อบริบทปัจจุบันและไม่เพียงพอต่อการรับมือความเสี่ยงในอนาคตจากความผันผวนของสภาพอากาศ

ทั้งนี้ในรายงานธนาคารโลก (World Bank Group, 2022) ได้รายงานความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยว่า ในภาพรวมมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติอันดับที่ 81 จาก 191 อันดับ โดยความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วมอยู่อันดับ 9 เสี่ยงสูงต่อภัยแล้งอันดับ 29 มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อนอันดับ 27 ในขณะที่ความสามารถในการรับมือ หรือการจัดการน้ำยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ช่องว่างที่พบคือ ในทางปฏิบัติยังต้องเสริมเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต้องคำนึงถึงแนวทางการกำกับการดูแล จัดการน้ำผ่านการบูรณาการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับน้ำและแผนแม่บท ซึ่ง 2 เครื่องมือนี้ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย และในระดับการสั่งการและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บท จึงส่งผลกระทบต่อระดับปฏิบัติการ

เปรียบกับกรณีศึกษากับต่างประเทศสรุปได้ว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ ออกกฎหมายยังไม่ครบตามเป้าหมาย และกฎหมายด้านน้ำมีมากกว่า 10 ฉบับ มีหน่วยงานน้ำมากกว่า 43 หน่วยงาน จึงต้องสร้างเอกภาพการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนแม่บทอย่างเป็นองค์รวม

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการท่องเที่ยวที่เพื่อนำพาประเทศก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในอนาคตต้องแก้ไขปัญหาน้ำ และระบบบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ครอบคลุมมิติการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาระบุว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความมั่นคงยั่งยืน ประกอบด้วย 4 เสา หลัก เสาที่ 1 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นเครื่องมือกำหนดกรอบและขอบเขตการทำงาน และแนวทางการขับเคลื่อน

เสาที่ 2 การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานด้านน้ำ 43 หน่วยงาน เสาที่ 3 กฎหมาย (พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ 2561) เป็นศูนย์กลาง กำหนดหน้าที่และอำนาจขอบเขตการบริหารจัดการน้ำ

และเสาที่ 4 นวัตกรรมส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ผลงานวิชาการมาใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บททรัพยากรน้ำ โดยเป้าหมายก็คือการบริหารจัดการน้ำให้ทันสมัย เน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการระบบข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อการวิเคราะห์ วางแผน บริหารจัดการ และติดตามประเมินผล

อย่างไรก็ดี เพื่อลดแรงเสียดทานและผลกระทบที่จะเกิดล่วงหน้า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านควรแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วงใหญ่คือ Quick Win และ Big Win โดย Quick Win ประกอบด้วย 1. จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ในประเด็นที่ยังเป็นช่องว่าง รวมถึงรองรับการตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ

2. จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินการในระดับลุ่มน้ำและจังหวัดมีความต่อเนื่องและรองรับการทำงานของกรรมการลุ่มน้ำ และอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เชื่อมโยงเชิงพื้นที่ ลุ่มน้ำ และส่วนกลาง

3.จัดตั้งโครงการ Water Resources Intelligent Unit (WRIU) ภายใต้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมีคณะอนุกรรมการแต่งตั้งจาก กนช. ให้เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการทำงานและตรวจสอบได้ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โครงสร้างในระบบการบริหารจัดการน้ำใหม่

สำหรับช่วง Big Win เป็นการทำงานสอดรับกับช่วง Quick Win โดยเป็นช่วงขึ้นรูปกระทรวงทรัพยากรน้ำตามที่คณะทำงานด้านกฎหมายได้มีการออกแบบ และการจัดตั้งหน่วยงาน “Water Resources Intelligent Agency” ที่สมบูรณ์ต่อไป

ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นผลการศึกษาวิจัยที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์เชิงระบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2565 ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา

ภาพ: เพจนายกอุ๊ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์

Copyright @2021 – All Right Reserved.