ครั้งแรกของ ‘ซีกโลกเหนือ’ อุณหภูมิทะลุเกิน 1.5 °C

by IGreen Editor

แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเคยทะลุเกณฑ์ 1.5 °C มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นใน ‘ซีกโลกเหนือ’ ในวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา

พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก WMO คาดว่ามีความเป็นไปได้ถึง 66% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของโลกจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมจนถึงปี 2570

ซีกโลกเหนือ คือบริเวณของโลกที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ประกอบไปด้วยทวีปยุโรปทั้งทวีป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกากลาง ภูมิภาคแคริบเบียน พื้นที่เกือบทั้งหมดของทวีปเอเชีย ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่อยู่ซีกโลกใต้ อินโดนีเซียและมัลดีฟส์บางส่วนที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเส้นศูนย์สูตร พื้นที่ราวสองในสามของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่บริเวณจะงอยแอฟริกาขึ้นไป พื้นที่ราวหนึ่งในสิบของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่บริเวณทิศเหนือของปากแม่น้ำแอมะซอนขึ้นไป

อุณหภูมิที่เกิน 1.5 °C แม้จะเกิดชั่วคราวแต่การเกิดขึ้นบ่อยนั้น บ่งชี้ได้ว่าโลกเรากำลังเข้าใกล้ระดับสภาพอากาศในระยะยาวที่แท้จริง

ปัจจัยหลักคือความล้มเหลวในการบริหารจัดการของแต่ละประเทศที่เคยร่วมลงนามตกลงในสนธิสัญญาปารีสว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยในระยะยาวของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“เราหมดเวลาแล้วเพราะการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา” Sarah Perkins-Kirkpatrick นักภูมิอากาศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียกล่าว

ครึ่งปีแรกของ 2566 ผ่านไปมีเหตุการณ์ ‘ทุบสติถิ’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมุมโลกทั้งบนบกและในทะเล

  • กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน อุณหภูมิในเดือนมิถุนายนทำลายสถิติ
  • สหรัฐอเมริกา เจอคลื่นความร้อนสูงพัดถล่ม ทำให้บางส่วนของอเมริกาเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลประมาณ 10 °C ในเดือนนี้
  • แคนาดา เผชิญไฟป่าที่โหดร้ายที่สุด ปล่อยคาร์บอนประมาณ 160 ล้านเมตริกตัน
  • อินเดีย หนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางต่อสภาพอากาศมากที่สุดมีรายงานผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูง อย่างต่อเนื่อง
  • และความร้อนจัดใน
  • สเปน อิหร่าน และเวียดนาม เกิดความวิตกว่า ความร้อนจัดในฤดูร้อนที่ร้ายแรงของปีที่แล้วอาจกลายเป็นมาตรฐานปกติของประเทศ

ในช่วงปลายเดือนมีนาคมอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ 21 °C ทุบสถิติและคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดเดือนเมษายนและพฤษภาคม หน่วยงานด้านสภาพอากาศของออสเตรเลียเตือนว่าอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียอาจร้อนกว่าปกติถึง 3 °C ภายในเดือนตุลาคม

เพียร์ส ฟอร์สเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อุณภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญ การลดลงของฝุ่นละอองในทะเลทรายซาฮาราที่พัดปกคลุมมหาสมุทร และการใช้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำล้วนเป็นเหตุกระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยสรุปแล้วมหาสมุทรกำลังถูกโจมตีถึงสี่เท่า และนี่คือเป็นสัญญาณของสิ่งที่กำลังจะมาถึง

ทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้เกิดการแพร่ของสาหร่ายบลูมที่เกิดจากความร้อนได้ทำให้สิงโตทะเลในแคลิฟอร์เนียป่วยและตายไปโดยไม่ทราบจำนวน ปลานับพันตัวต้องตายเกยตื้นอยู่บนชายหาดเท็กซัส

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังส่งผลให้ลมและฝนน้อยลง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่นำไปสู่ความร้อนมากยิ่งขึ้น แอนนาลิซา บรักโก นักภูมิอากาศวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียกล่าว

อ้างอิง

Jul 3, 2023. World hits record land, sea temperatures as climate change fuels 2023 extremes. The Reuters

Copyright @2021 – All Right Reserved.