YOU เทิร์น Platform
ปรับโฉมการทิ้งขยะพลาสติกในมือคุณ

by Igreen Editor

กระแสรักษ์โลกในปัจจุบันยังคงมาแรงแซงโค้ง เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นปัญหาโลกร้อน ที่ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งขยะทั่วไป และขยะพลาสติกและนำไปสู่การกำจัดที่ผิดวิธี เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีการเปลี่ยแปลงอย่างรวดเร็วและหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นหายนะใหญ่ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้

การบริหารจัดการขยะพลาสติกหลายประเทศมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาใส่ใจในการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) และการใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้ว เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycle) ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตตู้รับซื้อขวดพลาสติกของเดนมาร์กที่เพียงแค่นำขวดหย่อนลงไปในเครื่องก็จะแปลงเป็นสลิปเพื่อนำไปแลกเงินได้

หรือแม้กระทั่งการตั้งตู้แลกตั๋วของหลายเมืองใหญ่ในโลก เช่น โรม ปักกิ่ง ฯลฯ ที่จะวางจุดรับขวดน้ำใช้แล้วไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ เมื่อผู้โดยสารนำขวดพลาสติกมาเข้าระบบก็จะได้ค่าโดยสารคืน เป็นต้น

สำหรับเมืองไทยแล้วการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรได้มีการดำเนินงานทั้งรัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจและจับตามองคือ “YOUเทิร์น Platform” ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่จะมุ่งมั่นเพื่อสานต่อภารกิจเดินหน้าโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการแก้ไขปัญหาขยะในระดับประเทศ

การดำเนินงานโครงการนี้ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่

1.การนำขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากแหล่งที่มาของขยะของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน คู่ค้าทางธุรกิจ เป็นต้น มาทิ้งที่เครื่องรับขยะแบบดิจิทัล (Digital Drop point) และถังรับขยะ (Physical Drop Point) ของโครงการ หรือการจัดเก็บผ่านโครงการต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ GC จากนั้นจัดเก็บขยะและขนส่งไปยังศูนย์คัดแยกขยะเครือข่ายของ GC โดยใช้ระบบขนส่ง You เทิร์น ของ GC หรือเครือข่าย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าขยะรีไซเคิลเหล่านั้นได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมแทนการฝังกลบ

2. ศูนย์คัดแยกขยะทำการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้ถูกต้องอีกครั้ง และส่งต่อไปยังโรงงาน รีไซเคิล โดยจะส่งขยะพลาสติกประเภท PET และ HDPE ไปยังโรงงานของพันธมิตร และในอนาคตขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปที่โรงงานรีไซเคิลของ GC ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าการก่อสร้างเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลต่อไป

3. เม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) โดยเครือข่ายของ GC นอกจากนี้ ปริมาณขยะทั้งหมดที่โครงการเก็บได้ สามารถนำมาคำนวณการลดลงของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

4. ทุกขั้นตอนในอนาคต GC จะมีการเก็บข้อมูลการดำเนินการของขยะด้วยระบบดิจิทัล เพื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการจัดทำข้อมูลรีไซเคิลให้กับเจ้าของแบรนด์ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล โดยนำร่องการดำเนินโครงการในกรุงเทพฯ และระยอง จากนั้นขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเชื่อมแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้าถึงประชาชนเป็นวงกว้าง GC จึงได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR (โออาร์) ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เดินหน้าโครงการพลาสติก (คืน) สุข ด้วยการทดลองวางจุดรับขยะหรือ Drop Point ในเฟสแรก ที่ชั้น 1 อาคาร EnCo A ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ชั้น 1 อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่

ด้วยการจัดวางถังเครื่องรับขยะแบบดิจิทัล (Digital Drop point) ให้ผู้ที่มีหัวใจรักษ์โลกได้นำขวดพลาสติกมาทิ้งเพื่อสะสมคะแนนในการแลกของรางวัลได้ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ร่วมกันกับ Digital Drop Point (Mobile Application) เพื่อรองรับการขยายตัวของแพลตฟอร์มดิจิทัลในอนาคต และตั้งจุดรับขยะพลาสติก (Drop Point) อีกด้วย

นอกจากนี้ยังดำเนินการนำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาประชาอุทิศ – ลาดพร้าว ด้วยการตั้งจุดรับขยะพลาสติก (Drop Point) ที่จะเป็นการคัดแยกขยะในการนำกลับไปบริหารจัดการภายใต้กระบวนการที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม จุดรับขยะพลาสติกดังกล่าวมุ่งเน้นที่ผ่านการทำความสะอาดมาแล้วระดับหนึ่งเป็นสำคัญ โดยหลังจากนี้จะมีการขยายการวางจุดรับขยะ(Drop Point) ในรูปแบบเบื้องต้นไปยังสถานที่อื่น ๆ และ PTT Station กระจายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป

จาก “YOU เทิร์น Platform” สู่โครงการพลาสติก (คืน) สุข” ทำให้การทิ้งขยะพลาสติกของคนไทยมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นและไม่จำเจอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การจัดการขยะพลาสติกของไทยในอนาคตนำไปสู่ความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ขยะในมือของคุณจะกลายเป็นขยะที่ไร้ค่าหรือมีคุณค่าคงสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดรับขยะ แต่อยู่ที่เราทุกคนจะตระหนักและลงมือปฏิบัติในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกวิธีหรือไม่

Copyright @2021 – All Right Reserved.