แอนตาร์กติกอุ่นขึ้น 2 เท่า ต้นเหตุเดิมหนีไม่พ้น ‘โลกร้อน’

by Admin

การศึกษาล่าสุดระบุแอนตาร์กติกมีแนวโน้มร้อนขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วนที่เหลือของโลก และเร็วกว่าแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดไว้ เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก 

เดิมทีสภาพอากาศของทวีปแอนตาร์กติกาขึ้นอยู่กับการความผันผวนตามธรรมชาติ ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์หลายท่านพยายามทำควาเข้าใจว่าเหตุใดน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกจึงอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงการเสียชีวิตของลูกนกเพนกวินจักรพรรดิ์ หลายพันตัวในช่วงปลายปี 2565 หลังจากที่น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกตะวันตกที่รองรับอาณานิคมละลาย โดยหลายคนเชื่อว่านี่คือสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด

จนกระทั่ง ดร. มาติเยอ คาซาโด ผู้นำการศึกษาครั้งล่าสุดได้ ให้พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่าแอนตาร์กติกกำลังอยู่ในช่วงการขยายขั้ว 

ปรากฎการณ์ การขยายขั้ว หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบริเวณขั้วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน 

หลักฐานชิ้นดังกล่าวเกิดจากดร.มาติเยอ และเพื่อนร่วมงานได้วิเคราะห์แกนน้ำแข็งแอนตาร์กติก 78 แกน เพื่อสร้างชุดข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลัง 1,000 ปี ขึ้นมาใหม่ และทำการเปรียบเทียบ กับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและการสังเกตการณ์ จนพบว่าทวีปแอนตาร์กติกกำลังร้อนขึ้นในอัตราระหว่าง 0.22 ถึง 0.32 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ เทียบกับ 0.18 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษที่คาดการณ์ไว้โดยแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ

เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่เห็นภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างมากในทวีปแอนตาร์กติก นอกเหนือไปจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ” ดร.มาติเยอ กล่าว

แอนตาร์กติกมีขนาดเท่ากับทวีปอเมริกาและเม็กซิโกรวมกัน โดยแอนตาร์กติกตะวันตก เป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่ออุณภูมิที่สูงขึ้นมากที่สุด และหากแผ่นน้ำแข็งในภูมิภาคนี้พังทลาย อาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอีกหลายเมตร ซึ่งการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นแล้วว่าอุณหภูมิในภูมิภาคนี้ร้อนขึ้นเป็น 2 เท่าของอัตราที่คาดการณ์ไว้ในแบบจำลอง

ดร. ซาราห์ แจ็กสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านแกนน้ำแข็งแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการค้นพบนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก่อนหน้าใช้อัตราการอุณหภูมิที่ต่ำกว่าที่ดร.มาติเยอได้ศึกษาไว้ล่าสุด หรือเท่ากับว่าแบบจำลองที่ผ่านมาประเมินการสูญเสียน้ำแข็งต่ำเกินไป

ดร.ไคล์ เคลม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตันในนิวซีแลนด์ ได้ทำการศึกษาอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่าเดิมทีสภาพอากาศของทวีปแอนตาร์กติกาขึ้นอยู่กับการความผันผวนตามธรรมชาติ แต่การศึกษาของดร.มาติเยอ คาซาโด แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตรวจพบได้ในภูมิอากาศแอนตาร์กติกและการขยายขั้วโลกเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนโดยมนุษย์

ภาวะโลกร้อนที่แอนตาร์กติกมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การสูญเสียน้ำแข็งในทะเลเพิ่ม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การไหลเวียนของมหาสมุทรทั่วโลก และระบบนิเวศทางทะเล รวมไปถึงกระตุ้นให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา

  • Sep 7, 2023. Antarctica warming much faster than models predicted in ‘deeply concerning’ sign for sea levels. The Guardian
  • Apr 24, 2023. Trends and variability in the Southern Annular Mode over the Common Era. Nature
  • Aug 11, 2022. The Arctic has warmed nearly four times faster than the globe since 1979. Nature

Copyright @2021 – All Right Reserved.