ความมั่นคงอาหารมนุษย์เข้าสู่วิกฤต
ผู้คน 124 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงหิวโหย

by Igreen Editor

ในปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่คึกคักที่สุดปีหนึ่ง ทว่า รายงานแต่ละชิ้นไม่ได้ทำให้วงการวิทยาศาสตร์คึกคักไปด้วย เพราะทุกฉบับเตือนเราว่าสถานการณ์กำลังน่าเป็นห่วง โลกร้อนกำลังทำลายองค์ประกอบทุกอย่างของโลก ไม่เฉพาะแค่สภาพอากาศ แต่ยังรวมถึง ดิน ทะเล และไฟป่าที่เกิดถี่ขึ้น และเมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เสื่อมถอยลง มนุษย์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบดิน
รายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดิน (Special Report on Climate Change and Land) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ 107 คนจาก 52 ประเทศ ที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับแผ่นดินและภูมิอากาศทั้งระบบเป็นครั้งแรก เผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ เช่น

• นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 66% เป็นผลมาจากภาคเกษตร และประมาณ 33% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกมาจากปศุสัตว์ (1)
• หากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเน้นการบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น โดยมีโปรตีนจากปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย แกะ และแพะ น้อยลงจะช่วยให้การปล่อยก๊าซมีเทนลดน้อยลงไปด้วย (2)
• ผู้จัดทำรายงานเสนอไม่ให้เปลี่ยนที่ดินสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร และการผลิตพลังงานชีวภาพ ไปใช้เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังแนะนำประเทศต่าง ๆ จำกัดจำนวนที่ดินที่จะใช้สำหรับปลูกพืชพลังงานชีวภาพ และแนะนำให้ปลูกป่าทดแทน (2)
• การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง, อุณหภูมิที่สูงขึ้น และฝนไม่เพียงพอหรือมากเกินไป ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารมากขึ้น เช่น พื้นที่สูงสามารถผลิตพืชอาหาร เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลีได้มากขึ้น ส่วนพื้นที่ต่ำกว่า ผลิตอาหารได้น้อยลง (3)
• เราสามารถสรุปได้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเร่งอัตราการสูญเสียดินและความเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง (4)

น้ำ

รายงานพิเศษเกี่ยวกับมหาสมุทรและส่วนของโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Special Report on the Ocean and Cryosphere in a Changing Climate) ได้รับการอนุมัติโดยที่ประชุม ครั้งที่ 51 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562

รายงานฉบับนี้มีจำนวนถึง 1,300 หน้า เรียบเรียงโดยทีมงาน 104 คน จาก 36 ประเทศ ว่าด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พืดน้ำแข็ง (Ice sheet) และธารน้ำแข็ง (Glacier) ทั่วโลกละลาย ส่งผลต่อระดับน้ำในมหาสมุทร

เนื้อหาโดยสรุปของรายงาน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 มหาสมุทรเริ่มอุ่นขึ้นและอุณหภูมิไม่ได้ลดลง ทั้งยังดูดซับความร้อนส่วนเกินมากกว่า 90% จากระบบภูมิอากาศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 มหาสมุทรอุ่นขึ้นเป็นสองเท่า และคลื่นความร้อนในทะเลกำลังทวีความรุนแรง โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เกิดขึ้นถี่เป็นสองเท่าจากก่อนหน้านี้

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น
• ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยโลก (GMSL) เพิ่มขึ้น 3.66 มม. ต่อปี ซึ่งเร็วกว่าอัตราระหว่างปี พ.ศ. 2444 – 2534 ถึง 2.5 เท่า หากเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ระดับน้ำจะเพิ่มประมาณ 30 – 60 ซม. เมื่อถึงปี พ.ศ. 2643 ถึงแม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และอุณหภูมิถูกจำกัดไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสก็ตาม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 2 เมตรในปี พ.ศ. 2643 ถ้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (5)

• การละลายของแผ่นน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์รุนแรงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงอย่างน้อย 350 ปีที่ผ่านมา และในเวลานี้การละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์รวมกัน มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่า 700% (6)

• ถ้าภาวะโลกร้อนยังคงเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มหาสมุทรอาร์กติกในช่วงปลายฤดูร้อน คือเดือนกันยายนอาจเกิดปรากฏการณ์ไม่มีน้ำแข็งยาวนานถึง 1 ปี ในทุก ๆ 3 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบหลายปีเท่านั้น (6)
• พื้นที่ต่ำริมชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ รวมถึงมหานครใหญ่ ๆ ของโลก จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการละลายของน้ำแข็ง หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในระดับสูง เกาะที่อยู่ในระดับต่ำบางแห่งจะไม่จะสามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 (6)

ไฟ
นอกเหนือจากรายงานของ IPCC แล้วยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ออกมาหลังจากนั้นและให้แง่มุมที่แตกต่างเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เช่น การศึกษาโดยคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ในสหรัฐ พบว่าไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้ภัยพิบัติไฟป่าในอนาคตยิ่งแย่ลง โดยเผยแพร่งานวิจัยนี้ในวารสาร Environmental Research Letters

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น
• จากการศึกษาชั้นตะกอนดินในทะเลสาบสวอมพ์ ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี พบความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มสภาพภูมิอากาศ โดยช่วงเวลาที่อบอุ่นมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาของการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น ไฟป่าเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงยุคกลางที่สภาพอากาศผิดปกติ (Medieval Climate Anomaly) อันเป็นช่วงเวลาของความร้อนที่ผิดปกติและภัยแล้งยาวนานระหว่างปี พ.ศ. 1496 – 1793 ดังนั้นงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่ายิ่งโลกร้อนขึ้น ไฟป่าจะยิ่งเกิดถี่มากขึ้น (7)
มนุษย์
ดัชนีความหิวโหยทั่วโลกประจำปี พ.ศ. 2562 (Global Hunger Index Report 2019) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการลดความหิวโหยทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาปริมาณน้ำฝนในการเพาะปลูกอาหาร และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น
• การผลิตอาหารมีแนวโน้มที่จะลดลงตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดการขาดแคลนน้ำ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น และภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม ในเวลานี้ผลผลิตของพืชอาหารหลัก เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลีก็ลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคพืชและแหล่งน้ำที่ลดลงอย่างรุนแรง (8)
• ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ คิดเป็น 80% ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2559 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับวิกฤต กระทบต่อผู้คน 124 ล้านคนใน 51 ประเทศ (8)
• การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระดับต่ำและในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ไม่เพียงแต่มีประชากรจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตอาหารที่สูง เช่น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิตข้าวทั่วประเทศของเวียดนาม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตใด ๆ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงด้านอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ (8)

อ้างอิง

  1. IPCC (Report). Special Report on climate change, desertification, land degradation, sustainable land management, food security, and greenhouse gas fluxes in terrestrial ecosystems (SRCCL). April 27, 2019. p. 186.

https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2019/08/2c.-Chapter-2_FINAL.pdf

  1. Harrabin, Roger (August 8, 2019). “Plant-based diet can fight climate change – UN”. BBC News. Retrieved August 8, 2019.

https://www.bbc.com/news/science-environment-49238749

  1. Dunne, Daisy; Gabbatiss, Josh; McSweeney, Robert (August 8, 2019). “In-depth Q&A: The IPCC’s special report on climate change and land”. Retrieved August 10, 2019.

In-depth Q&A: The IPCC’s special report on climate change and land

  1. Flavelle, Christopher (August 8, 2019). “Climate Change Threatens the World’s Food Supply, United Nations Warns”. The New York Times. Retrieved August 9, 2019.

  1. “Press Release” (PDF). IPCC (Press release). Special Report on the Ocean and Cryosphere in a Changing Climate (SROCC). September 25, 2019.

https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/sites/3/2019/09/SROCC_PressRelease_EN.pdf

  1. “In-depth Q&A: The IPCC’s special report on the ocean and cryosphere”. Carbon Brief. September 25, 2019. Retrieved September 25, 2019.

In-depth Q&A: The IPCC’s special report on the ocean and cryosphere

  1. Brown University. “Study of past California wildfire activity suggest climate change will worsen future fires.” ScienceDaily. ScienceDaily, 8 October 2019.

https://www.sciencedaily.com/releases/2019/10/191008104659.htm

  1. Rupa, Mukerji (October 2019). “Climate Change and Hunger”. Global Hunger Index Report 2019. Retrieved October 18, 2019.

https://www.globalhungerindex.org/issues-in-focus/2019.html

Copyright @2021 – All Right Reserved.