‘คลื่นความร้อน’ คือผลลัพธ์ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

by Igreen Editor

คลื่นความร้อนที่ถาโถมจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจาก World Weather Attribution ได้ประเมินบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว พบว่า ‘หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์’ เหตุการณ์ในเดือนกรกฎาคมคงจะ เกิดขึ้นน้อยมาก

อิซิดีน ปินโต จากสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในผู้ศึกษากล่าวในแถลงการณ์ว่า “อุณหภูมิในยุโรปและอเมริกาเหนือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

อุณหภูมิที่สูงทุบสถิติของสหรัฐอเมริกาและยุโรปตอนใต้เป็นเรื่องที่ ‘แทบจะเป็นไปไม่ได้’ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มโอกาสเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงสูงถึง 50 เท่า

เพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตที่ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อ ต่อความเป็นไปได้และความรุนแรงของคลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคม ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WWA ได้ตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศและแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบสภาพอากาศยุคปัจจุบันและยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งยุคปัจจุบันอุณภูมิสูงกว่าประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทอย่างยิ่งต่อสภาพอากาศในปัจจุบันอย่างแน่นอน”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงกระตุ้นให้คลื่นความร้อนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้อุณหภูมิความร้อนสูงขึ้นอีกด้วย

รายงานระบุเพิ่มว่าคลื่นความร้อนในยุโรปทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส อเมริกาเหนือร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส และจีนร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส

แย่กว่านั้นคือหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส โอกาสในการเกิดคลื่นความร้อนเหมือนเดือนกรกฎาคมนี้จะเกิดขึ้นได้อีกทุกๆ 2-5 ปี

การศึกษายังพิจารณาถึงบทบาทของเอลนีโญ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอลนีโญอาจมีส่วนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในบางภูมิภาค แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัจจัยหลัก

“เหตุการณ์ที่เราพิจารณาไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในสภาพอากาศปัจจุบัน” ฟรีเดอริเก ออตโต นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันแกรนแธมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลอนดอนกล่าวในบทสรุปของรายงาน

ออตโตกล่าวเสริมว่ารายงานชิ้นนี้ไม่ใช่หลักฐาน ‘การล่มสลายของสภาพอากาศ’ เพียงชี้ให้เห็นว่าหากมนุษย์ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นด้วยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ คลื่นความร้อนรุนแรงแบบนี้คงเกิดขึ้นขึ้นได้น้อยมาก แต่ตราบใดที่เรายังเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ปรากฎการณ์สุดโต่งเหล่านี้ก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา

Copyright @2021 – All Right Reserved.