ต้นแบบของลูกคือพ่อแม่ ธรรมชาติจะดีอยู่ที่การปลูกฝัง

by IGreen Editor

โรงเรียนวนิษาตั้งอยู่สุขุมวิท 26 ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียนในเมือง แต่มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างเยอะ ทั้งที่ปากซอยคือห้างเอ็มโพเรียมและเอมควอเทียร์ เด็กนักเรียนที่นี่มีอาหารแพลนต์ เบส กิน แต่ไม่ได้บังคับรับประทานทั้งโรงเรียน เพราะเสิร์ฟอาหารหลากหลาย แค่ให้กินแพลนต์ เบส สัปดาห์ละ 1 วัน และเป็นการเสิร์ฟโดยไม่ได้บอกว่าคืออะไร

นี่คือวิธีการที่ หนูดี – วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เจ้าของโรงเรียนวนิษา และเจ้าของแนวคิด “อัจฉริยะสร้างได้” ใช้เป็นแนวทางในการสอนเด็กเกี่ยวการรับประทานผัก ซึ่งเป็นอาหารที่เด็กมักไม่ชอบ

“เช่น เสิร์ฟข้าวกล้อง ทุกอย่างไม่ได้มานั่งพูดว่ามันคืออะไร เราเป็นเจ้าของโรงเรียน เรามีหน้าที่ออกแบบหลักสูตร ไม่ได้มานั่งสอนว่าแพลนต์ เบส คืออะไร เพราะเด็กเล็กเกินไป” หนูดี ซึ่งเป็นผู้รับประทานอาหารแพลนต์ เบส และปลูกผักกินเอง เล่าถึงการสอนเด็ก ๆ ให้รับประทานผัก เพื่อลดสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์

เธอบอกว่า ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะทำตามพ่อแม่ พ่อแม่ชอบบอกว่าลูกไม่เกินผักเลย อย่างเช่น บรอกโคลีต้มมันเหม็นมาก พ่อแม่ก็ต้องสร้างสรรค์เมนูให้เหมาะกับลูก หรือพ่อแม่ชอบบ่นว่าลูกไม่อ่านหนังสือ ถามว่าพ่อแม่อ่านไหม ก็ไม่อ่านหนังสือ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง หรือการทำปุ๋ยหมักเอง พ่อแม่ก็ต้องทำให้เป็นไลฟ์สไตล์ให้เห็นในบ้าน

“เราไม่สามารถสอนให้เด็กเป็นอะไรได้เลย ถ้าเราไม่ทำ ซึ่งการสอนเด็กปลูกผัก เด็กปลูกเองเขาก็จะกิน เพราะเขาได้ทำเอง เด็กต้องเล่นกับดิน เล่นกับทราย เวลาเราปลูกผัก เราจะพูดตลอดว่าดินมันคือสิ่งมีชีวิต มีทั้งจุลินทรีย์ มีทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อย  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มันหายใจ แต่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ดินตายไปเลย เพราะไม่มองดินว่าเป็นสิ่งมีชีวิต และคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจต้นธารสิ่งมีชีวิตของป่าทั้งป่า”

ดร.พสุธ รัตนบรรณางกูร หรือ คุณโพ คู่ชีวิตของหนูดี ยกตัวอย่างกรณี ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ เสริมการสัมภาษณ์ของหนูดีว่า วันก่อนเพื่อนเล่า เด็กคนหนึ่งเข้าใจว่า ผักมันงอกมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต พอไปเจอผักในแปลงดินร้องไห้กระจองอแง เข้าใจไปเองว่ามันไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ เพราะดินมันสกปรก

“หลังจากนั้นเด็กคนนี้ก็ไม่อยากกินผัก เพราะผักมาจากสิ่งสกปรก สิ่งเหล่านี้มันจี๊ดมาก มันเจ็บมาก ฉะนั้น อยากให้เด็กรุ่นใหม่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เพราะธรรมชาติเหลือน้อย โดยเฉพาะเด็กในเมือง เขาจะไม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ พอโตขึ้นมาเขาจะไม่รู้สึกว่าจะต้องอนุรักษ์อะไรมากมาย เพราะไม่ได้เข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง”

อย่างไรก็ตาม หนูดีบอกว่า เธอไม่กังวลในการปรับตัวของเด็กและเยาวชนกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอมองว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เรื่องแพลนต์ เบส เรื่องความยั่งยืน (sustainable) ความสนใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV เธอเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จะทำให้โลกใบนี้รอดได้

ทว่า สิ่งที่กังวลคือ คนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ และรุ่นเก่าสุดเสียมากกว่า (ดร.โพพูดเสริมโดยย้ำว่า ‘ที่อยู่ในอำนาจ’) เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่สะดวกจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่วนคนรุ่นใหม่เขาโตมาในยุคที่ใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เขาเข้าใจ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแนะนำอะไรไปมากกว่านี้ แต่สิ่งที่ควรสอน เช่น การแยกขยะ

“แม้แต่คนจีนรุ่นใหม่ที่มาเรียนเมืองไทย เขาไม่ได้อยากสะสมเงิน ไม่ได้อยากมีบ้านหลังใหญ่ อยากเดินทาง อยากมีของน้อยชิ้น มีเงินเก็บแล้วได้เดินทาง เป็นการสะสมประสบการณ์แทนการสะสมทรัพยากร ที่น่ากังวลคือรุ่นกลางเก่ากลางใหม่นี่แหละ”

หนูดีสะท้อนว่า การจะปรับเปลี่ยนให้โลกดีขึ้น ถ้าพูดตามความเป็นจริงก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการบริโภคอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคมและอารยธรรมของมนุษย์ที่ปรับมาเป็นโครงสร้างที่มีการทำลายทรัพยากรโลก ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่น เริ่มมีการคิดค้นพลาสติกมาใช้จนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน

“ฉะนั้นเมื่อโครงสร้างเป็นอย่างนี้ เด็กคนหนึ่งเกิดมาก็ใช้แพมเพิส ปัจจุบันคนซักผ้าอ้อมเป็นคนประหลาด โครงสร้างมันเริ่มตั้งแต่เกิด แค่เกิดมาวันแรกคุณก็ทำลายโลกแล้ว แค่จะขับถ่ายก็ต้องสร้างขยะฝังกลบ ถามว่ายากไหมในการใช้ชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเราปรับโครงสร้างทั้งระบบก็ไม่ยาก แต่ปัจจุบันถ้าจะใช้ชีวิตโดยไม่ทำลายโลก มันคือการฝืนโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างที่มาจากระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ แม้แต่ GDP (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ที่เราใฝ่ฝันว่าต้องเพิ่มต้องโต GDP ก็คือการย่อยทรัพยากรธรรมชาติมาเป็น GDP นี่ไม่ใช่คำพูดของหนูดี แต่เป็นคำพูดของพี่โจน จันใด”

หนูดี ไม่อยากให้ทุกคนต้องเคร่งเครียดกับการลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ในการใช้ชีวิตประจำวันหรือตั้งเป้าหมายตายตัว แต่ควรจะยึดหลักการใช้ชีวิตที่สมดุล เพราะการอาศัยอยู่ในโครงสร้างที่เรากำหนดอะไรไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่รู้จะเครียดไปทำไม

“เช่น เราเห็นบริษัทน้ำปิโตรเลียมออกแคมเปญ โห! คนหนึ่งคนมีพลังยิ่งใหญ่ หนูดีบอก เธอเลิกขายปิโตรเลียมสิคะ พลังของเธอยิ่งใหญ่กว่าคนหนึ่งคน เขาเลิกไม่ได้ และเราก็เลิกใช้ไม่ได้ แค่การแพทย์จะทำอย่างไรไม่ใช้พลาสติก ถุงซีลทั้งหลาย หลอดฉีดยาที่เกี่ยวข้องกับการเอาชีวิตรอด จะให้คนตายโดยไม่พึ่งพาพลาสติก ไม่ใช้ปิโตรเลียมไม่ได้ พอเราเห็นโครงสร้างทั้งหมดเราต้องปล่อยวางว่า นี่มันเรื่องใหญ่มาก และเราจะปรับโครงสร้างขนาดนั้นมันเป็นไปไม่ได้”

หนูดี บอกว่า การใช้อย่างพอเพียงคือการไม่ล้างผลาญทรัพยากรโลก เงินของมนุษย์มันสมมติขึ้น แต่ใช้แล้วต้องไม่ทำให้ทรัพยากรมันพัง สิ่งแวดล้อมมันพัง เราจะสูญเสียทั้งสุขภาพ และชีวิตแบบจริง ๆ ฉะนั้นเรามองไปไกลกว่าคำว่าเงิน หรือไม่อยากใช้แค่คำว่า ‘พอเพียง’

“แต่ควรใช้คำว่า เราให้เกียรติทรัพยากรโลก ตัวอย่างหนูดี อะไรซื้อมือสองได้ก็ซื้อ อย่างเสื้อผ้า เพื่อนหนูดีที่ฐานะดีมาก ๆ เขามีแบรนด์เนมจริงจัง แต่พอเขาใส่ไม่ได้ เขาจะทักหาหนูดีเอาไปใส่หน่อย เขาให้มาหลายสิบตัว ไม่ใช่เราไม่มีตังค์ซื้อ แต่เป็นการให้เกียรติทรัพยากรโลก สมัยนี้เราต้องก้าวไปไกลกว่าประหยัดเงินหรือพอเพียง ถ้าคุณมีเงิน แต่กระเป๋าใบนั้นทำจากหนังเสือและต้องไปฆ่ามันมา ซื้อได้ก็ไม่ควรซื้อ”

ฉะนั้น มากกว่าการปลูกผักกินเองสำหรับเด็กและเยาวชนก็คือบทบาทของ “พ่อแม่” หากพ่อแม่เห็นความสำคัญของการบริโภคที่พอดีและควรจะเป็น ลูกหลานเยาวชนก็ย่อมจะเข้าใจว่าการผลาญทรัพยากรหรือการบริโภคที่เกินพอดีจะมีส่วนอย่างสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น

อ้างอิง

  • หนูดี – วนิษา เรซ, ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เจ้าของโรงเรียนวนิษา, สัมภาษณ์, 17 มีนาคม 2567

Copyright @2021 – All Right Reserved.