วิกฤตเขื่อนลำตะคองแห้งขอด ถนนประวัติศาสตร์โผล่กว่า 7 กม.

by Igreen Editor

สัญญาณภัยแล้งในบ้านเราเริ่มชัดเจนมากขึ้น เนื่องปริมาณฝนที่ลดลง เช่น ล่าสุดสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคองเริ่มวิกฤต เนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นระยะยาว มีฝนตกลงมาในพื้นที่เหนือเขื่อนลำตะคองปริมาณน้อย ต้นน้ำที่อยู่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน รวมทั้งลำคลองลำธารสาขาต่างๆ ที่ไหลลงเขื่อนแห้งขอดหมดทุกพื้นที่ทั้ง 12 ตำบล

ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนอยู่บ้างมาจากน้ำผุดตามธรรมชาติในพื้นที่บ้านท่าช้างเหนือ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งพอจะทำให้มีน้ำดิบผลิตน้ำประปา ในชุมชนเมืองปากช่อง แต่ก็ไม่เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตร และกิจการอื่นในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แล้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ทำให้ถนนมิตรภาพสายประวัติศาสตร์ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำหลังการสร้างเขื่อนได้โผล่ให้เห็นเป็นระยะทางกว่า 7 กม. และกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน

สำหรับถนนเส้นนี้ใช้งบประมาณการก่อสร้างระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อเชื่อมโยงไปยังฐานทัพ จ.อุดรธานี และเลิกใช้หลังการก่อสร้างเขื่อนลำตะคองไปเมื่อปี 2515 และจมอยู่ใต้น้ำ

นายอำนาจ วรรณมาโส หัวหน้าฝ่ายจัดการน้ำและปรับระบบชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ที่มีความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝนตกลงมาด้านเหนือเขื่อนน้อย จึงทำให้น้ำในเขื่อนลดลงทุกวัน โดยเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 20 ส.ค. 2566 วัดได้เพียง 139 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ทำให้น้ำลดจากช่องประตูระบายน้ำ 7 ช่อง กว่า 100 เมตร

ด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า “ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงเดือน ม.ค.- ก.ค. 2566 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือน ก.ค. 2566 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง และภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567

Copyright @2021 – All Right Reserved.