‘เศรษฐา’ โวกลางเวทียูเอ็น ไทยหยุดผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินปี 2040

by Admin

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 เตรียมยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน

ช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที ซึ่งไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ใกล้เคียงกับปี 2050 (พ.ศ.2593) มากที่สุด

นอกจากนี้ พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2040 (พ.ศ.2583 หรืออีก 16 ปี) และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้นฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี 2025 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด

นายเศรษฐา ย้ำว่า ไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ

ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) หรือ COP 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

“โดยเราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้

“รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน” นายกฯ ระบุ

นอกจากนี้ ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (Net-Metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2037

พร้อมกันนี้ ไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment: DCCE) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน

ในตอนท้าย นายกฯ ย้ำว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้

Copyright @2021 – All Right Reserved.