ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
แถลงความเห็น ‘ยกฟ้อง’
คดีเพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองพิจิตร

by Admin

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีชาวบ้านรอบพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, คณะกรรมการเหมืองแร่, อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง ที่ออกโดยมิชอบให้แก่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าทำเหมืองทอง

ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นโดยสรุปว่า การกระทำของผู้ที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำตามขั้นตอนการขอออกประทานบัตรแล้ว และบริษัทที่พิพาทได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว จึงมีความเห็นว่า พิพากษายกฟ้อง

คำแถลงคดีดังกล่าวถือเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ระบุว่า ให้จัดทำรายงาน EHIA แปลงประทานบัตรทั้ง 5 แปลงภายใน 1 ปี ให้เรียบร้อยก่อน เพราะเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ และถ้าภายใน 1 ปี บริษัทไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง

ทั้งนี้ ตามหลักการพิจารณคดี ความเห็นของตุลาการครั้งนี้ยังไม่ใช่คำพิพากษา โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในครั้งนี้แล้ว ศาลปกครองสูงสุดจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไปที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก

ด้าน น.ส.พริมสินี สินทรธรรมธัช ในฐานะเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า แม้บริษัทจะอ้างว่าได้จัดทำรายงาน EHIA แล้ว แต่ได้แถลงและยื่นต่อศาลว่า รายงานฉบับดังกล่าวไม่ใช่ EHIA แต่เป็นรายงานที่ตั้งชื่อให้คล้ายคลึงเท่านั้น และมีเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA

“เมื่อเรามาดูกันแล้วมันเหมือนไม่ใช่รายงาน EHIA ที่ต้องทำตามขั้นตอน เราก็มีความหวังว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตรตามศาลปกครองชั้นต้น  แต่พอตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าการออกประทานบัตรเป็นการกระทำโดยชอบและยกฟ้องผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมด ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นพวกเราก็เลยคาใจ และแม้ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาเช่นไร เราและพี่น้องเครือข่ายฯก็ยืดหยัดที่จะสู้ต่อไปและก็ยังมีความหวังที่จะต่อสู้ในคดีอื่นๆ อีก” น.ส.พริมสินี กล่าว

ด้านเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ในคดีนี้บริษัทพิพาทฯ แม้ว่าจดทะเบียนในไทยมีกรรมการเป็นคนไทย แต่ก็รู้กันดีว่า บริษัทนี้เป็นตัวตายตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินการเหมืองทองคำในไทย เท่ากับว่าต่างชาติเข้ามาเอาทองของเรา โดยที่ไม่ได้ซื้อทองได้ในราคาถูกลงเลย ราคาทองคำขึ้นอยู่กับราคาตลาดทองคำโลกนั้น เท่ากับว่าได้รับผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และยังต้องสูญเสียทองคำซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนทั้งประเทศ จึงอยากให้การพิจารณาคดีในครั้งนี้มีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตร และคุ้มครองชุมชนรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับการยื่นฟ้องคดีเพื่อให้ยกเลิกสัมปทานเหมืองทองของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ทางชาวบ้านรอบเหมืองให้เหตุผลว่า การทำเหมืองสร้างผลกระทบจากการแพร่กระจายของสารโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจาการกระบวนการทำเหมืองแร่ และแต่งแร่ เช่น สารหนู แมงกานีส เหล็ก ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนยังเกิดการชะล้างสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในกองดินและหินทิ้งไหลลงสู่พื้นที่ราบ

สารพิษดังกล่าวได้แพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ปนเปื้อนไปบนพื้นดิน และไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านใช้อาศัยอยู่และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต เกิดเหตุความเดือดร้อนรำคาญเกินสมควรและได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และจิตใจ ดังนั้น เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ ได้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้สั่งเพิกถอน ประทานบัตรเลขที่ 26917/15804, 26922/15805, 26921/15806, 26920/15807 และ 26923/15808 และขอให้ระงับการดำเนินการใดๆในพื้นที่ประทานบัตรทั้ง 5 แปลง
  2. ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2548
  3. ขอให้สั่งเพิกถอนการที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ผู้ร้องสอด (บริษัทเอกชนพิพาท) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน
  4. ขอให้ระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว

อ่านประกอบ – มหากาพย์ (ขุด) เหมืองทอง 35 ปี https://www.igreenstory.co/gold-concession/

Copyright @2021 – All Right Reserved.