เตือนผลพวงลานีญายืดเยื้อ
ฝนตกหนักลากยาวจนถึง ต.ค.
ระวังน้ำท่วม-ใต้เสี่ยงช่วงปลายปี

by Admin

นักวิชาการเตือนลานีญายกกำลังเพิ่ม 100% ช่วง ก.ย.-ต.ค. ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภูมิภาคและมากกว่าปีที่แล้ว กทม. กลาง ตะวันออก ตะวันตก และอีสาน ต้องระวังให้มาก ภาคใต้ระวังน้ำท่วมช่วง ต.ค.-ธ.ค.

นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุตอนหนึ่งว่า ทาง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิด “ลานีญา” ปรับเพิ่มอีกและยืดเยื้อเพิ่มเฉียด 100% ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 65 และแตะระดับ 80- 90% ยืดเยื้อถึงเดือน ม.ค. 66

บ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะยังมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภูมิภาคตั้งแต่นี้ไปถึงช่วงเดือน ต.ค. 65 ต้องระวังน้ำท่วมให้มาก โดยเฉพาะ กทม. ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และอีสาน โดยฝนจะเริ่มลดลงสู่ระดับปกติหลังเดือน ต.ค. 65 (ยกเว้นภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก และอีสานล่าง) ส่วนภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติลากยาวถึงอย่างน้อยเดือน มี.ค. 66 ต้องระวังน้ำท่วมให้มากช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 65 และฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว! ใต้ตอนล่างฝนจะมากกว่าใต้ตอนบน

ผลการพยากรณ์ทั้ง 2 สำนักสอดคล้องกันและบ่งชี้ว่าให้ระวังฝนมากช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ในทุกภูมิภาค ขณะที่ภาคใต้ต้องระวังฝนมากเป็นพิเศษช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 65 โดยฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว ใต้ตอนล่างฝนจะมากกว่าใต้ตอนบน
———–

ปรากฏการณ์..ลานีญา

เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้

ปรากฏการณ์..เอลนีโญ

เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

Copyright @2021 – All Right Reserved.