คลื่นความร้อนมันร้าย!

by Igreen Editor

คลื่นความร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป ไปจนถึงฝั่งเอเชีย สร้างผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศต่าง ๆ อย่างมหาศาล โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน

ในแต่ละปี คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก แต่มักถูกมองข้ามหรือประเมินค่าต่ำเกินไป จึงเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ทั่วโลกจะต้องหันมาให้ความสนใจและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย พร้อมกับเตรียมตัวรับมือป้องกันอย่างเท่าทัน และมีประสิทธิภาพ

คลื่นความร้อน — มันร้าย!

คลื่นความร้อน (Heat Wave) คือ อะไร? เมื่อค้นหาคำตอบนี้จะพบว่า ไม่มีคำจำกัดความที่เป็นมาตรฐานของคลื่นความร้อน โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ให้คำจำกัดความ “คลื่นความร้อน” ไว้กว้าง ๆ ว่า “ช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนผิดปกติ” โดยอ้างอิงกับเกณฑ์อุณหภูมิสัมพัทธ์ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 2 วันหรือเป็นเดือน(1)

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จำกัดความคลื่นความร้อนว่าเป็น “ช่วงที่มีอากาศร้อนผิดปกติ อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันหรือมากกว่านั้น”(2)

ปัจจุบัน ประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ มีมาตรฐานในการกำหนดนิยามคลื่นความร้อนของตนเองแตกต่างกันไป คลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้ในทั่วโลก ทั้งประเทศในเขตร้อนหรือเขตหนาว ความร้อนผิดปรกตินี้ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเสียชีวิต ความแห้งแล้ง คุณภาพน้ำ ไฟป่า การขาดแคลนพลังงาน การสูญเสียในภาคเกษตร ฯลฯ

ภัยจากอากาศที่ร้อนผิดปกตินี้เป็นอันตรายต่อผู้มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์ ทารก คนทำงานกลางแจ้ง หรือแม้แต่นักกีฬา โดยในปี 2561 มีผู้เปราะบางมากกว่า 220 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน(3)

ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น ทวีปยุโรป ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากกว่า 60,000 ราย และหากไม่มีแผนการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ ยุโรปอาจเผชิญกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 68,000 รายในแต่ละฤดูร้อนภายในปี 2573 และมากกว่า 94,000 คนภายในปี 2583(4)

คลื่นความร้อนเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็วและถูกเรียกว่าเป็น “นักฆ่าที่มองไม่เห็น” สถานการณ์คลื่นความร้อนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทนทานต่ออุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน และสร้างความตระหนักรู้แก่กลุ่มเปราะบาง เนื่องจากในหลายภูมิภาคมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการเพิ่มหรือขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว, อุณหภูมิที่สูงมากขึ้น และจำนวนประชากรสูงวัย(5)

คลื่นความร้อนก่อตัวอย่างไร?

คลื่นความร้อนเกิดได้จาก “การสะสมความร้อน” ในพื้นที่เป็นเวลานาน เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีเมฆและลมสงบนิ่งหลายวัน ทำให้มวลอากาศร้อนไม่เคลื่อนที่ อุณหภูมิอากาศของพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน นอกจากนั้นคลื่นความร้อนยังเกิดได้จาก “การพัดพาความร้อน” เมื่อมีลมแรงหอบมวลความร้อนจากทะเลทรายหรือเส้นศูนย์สูตรเข้ามาในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่าหรือเขตหนาว ทำให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อากาศร้อนสุดขั้วอาจเกิดขึ้นได้ในที่ซึ่งมีความชื้นสูง เมื่อคลื่นความร้อนผสมความชื้นในอากาศจะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

คลื่นความร้อนยังเกิดจาก “ระบบความกดอากาศสูง (Anticyclone)” เป็นการสะสมแรงกดบนชั้นบรรยากาศเหนือพื้นที่หนึ่งส่งผลให้กระแสลมไหลเวียนลงและทำหน้าที่เสมือนฝาของโดมความร้อน (Heat Domes) กักเก็บความร้อนที่สะสมอยู่ที่พื้นราบ ระบบความกดอากาศสูงยังผลักกระแสลมเย็นและเมฆออกไป ทำให้แสงอาทิตย์สาดมายังพื้นโลกได้โดยไม่มีสิ่งกีดกั้น(6)

ภาวะโลกร้อนเชื่อมโยงกับคลื่นความร้อน

การเกิดคลื่นความร้อนมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนยาวนานขึ้น รุนแรงขึ้น และถี่ขึ้น เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งกักเก็บพลังงานความร้อนได้มากขึ้น และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น

ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นยังคงท่วมชั้นบรรยากาศ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศพุ่งไปสูงสุดอยู่ที่ 420 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ(7)

เมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.5 องศาเซลเซียสจะทำให้ความรุนแรงและความถี่ของคลื่นความร้อนยิ่งเพิ่มขึ้น โดยความร้อนที่ผิดปรกตินี้มักเกิดรุนแรงในเขตเมือง จาก ‘เกาะความร้อนในเมือง’ (Urban Heat Island) ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และการขาดการวางแผนที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ(8)

ผลกระทบต่อสุขภาพที่คาดไม่ถึง

คลื่นความร้อนส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2534 ถึง 2563 มีผู้เสียชีวิตด้วยความร้อนเฉลี่ย จำนวน 138 รายต่อปี ลักษณะอาการที่พบ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะเพิ่มโอกาสเกิดอาการเพลียแดด ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพน้อยลง อาการโรคทางระบบประสาทแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ รบกวนการนอนหลับ ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และความเครียด

ขณะที่เกิดคลื่นความร้อน หากในอากาศมีปริมาณความชื้นสูง ยิ่งอันตรายต่อมนุษย์ เพราะร่างกายระบายความร้อน หรือลดอุณหภูมิได้ยากขึ้น

คลื่นความร้อนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงในภูมิภาคที่หนาวเย็น เพราะประชาชนไม่คุ้นชินกับอุณหภูมิที่สูง และอาจไม่รู้จักสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความร้อน

กลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจากคลื่นความร้อนคือ ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงคนที่มีสุขภาพดี แต่ต้องเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน เช่น ผู้ทำงานกลางแจ้งในภาคเกษตรกรรม และการก่อสร้าง เป็นต้น(9)

ในแง่การป้องกันเมื่อเกิดคลื่นความร้อน ควรทำให้ที่อยู่อาศัยเย็นสบาย หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก รักษาร่างกายให้เย็นและชุ่มชื้น สวมเสื้อผ้าที่บางเบาและหลวมพอดีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ สวมหมวกและแว่นกันแดดเมื่อออกนอกอาคาร ใช้ผ้าปูที่นอนเนื้อบางเบา ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป กินอาหารมื้อเล็ก ๆ และกินบ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูง เป็นต้น(10)

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

การศึกษาในสหรัฐอเมริการะบุว่า วันที่อากาศร้อนอาจส่งผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยคลื่นความร้อนสามารถส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการผลิตและรายได้ของคนงานในแต่ละวัน วันที่อากาศร้อนสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานได้มากถึงร้อยละ 24 คลื่นความร้อนทำให้คุณประสิทธิผลน้อยลงถึงร้อยละ 28

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้รายได้ต่อปีต่อหัวลดลงโดยเฉลี่ย 16.71 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่อากาศอบอุ่นทำให้ชาวอเมริกันเสียเงินประมาณ 4.80 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย เมื่อรวมกันแล้วสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก คลื่นความร้อนที่ส่งผลกระทบหนึ่งในสามของประเทศหรือชาวอเมริกัน 100 ล้านคน จะมีค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจประมาณ 500 ล้านดอลลาร์

ความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม​ เพราะความร้อนและความแห้งแล้งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิต ส่วนผลผลิตนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจากคนทำงานซึ่งจำเป็นต้องหยุดพักมากขึ้นหรือทำงานช้าลง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลกระทบอื่น ๆ อีก เช่น คนทำงานผิดพลาดมากขึ้น

จำนวนวันที่อากาศร้อนมากขึ้นอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.12 ต่อปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งขึ้น และผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต(11)

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเล

คลื่นความร้อนที่เกิดในทะเลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ในงานวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นและเกิดคลื่นความร้อนในทะเล (Marine Heatwave – MHW) เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี 2530-2559 มีจำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงปี 2468–2497

คลื่นความร้อนในทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลและระบบนิเวศทั่วโลก เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล รวมถึงปะการัง หญ้าทะเล และสาหร่ายทะเลที่ถูกทำลายเป็นวงกว้าง ทั้งยังลดความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์และระบบนิเวศ เกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่และการสูญพันธุ์​ ปะการังเกิดการฟอกขาว ความหนาแน่นของหญ้าทะเลลดลง มวลชีวภาพ (biomass) ของสาหร่ายทะเลลดลง เป็นต้น ทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันของคลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

อุณหภูมิในทะเลที่ร้อนขึ้นยังขยายผลกระทบออกไปสู่เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการประมงเชิงพาณิชย์ ขัดขวางการปกป้องชายฝั่งโดยธรรมชาติ ลดความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของมหาสมุทร เป็นต้น

หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนในทะเลมีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มขึ้น 16 เท่า จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนที่พึ่งพาและได้ประโยชน์จากนิเวศบริการทางทะเล(12)

ระบบเตือนภัย-การป้องกันเพื่อทุกชีวิต

เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วอย่างคลื่นความร้อน เป้าหมายสำคัญคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ควรมีมาตรการรับมือเร่งด่วน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค จัดหาพื้นที่ร่มเงา สร้างสวนน้ำ สถานีพ่นหมอก ศูนย์ทำความเย็นที่มีเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้หากจำเป็น ขณะเดียวกัน การสร้างอาคารใหม่ต้องคำนึงถึงระบบทำความเย็นเพื่อบรรเทาสภาพอากาศร้อนจัด ส่วนอาคารที่มีอยู่แล้วควรปรับเปลี่ยนให้สามารถลดการสะสมความร้อน รวมถึงปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาเพื่อช่วยทำให้อากาศเย็นลง(13)

ที่สำคัญที่สุดคือ การให้ข้อมูลคำแนะนำในการรับมือและปฏิบัติตัวเบื้องต้น การสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของประชาชนกลุ่มเปราะบาง และทุกประเทศจำเป็นต้องจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเสนอให้มีโครงการริเริ่ม Early Warnings for All เพื่อให้ทุกคนบนโลกได้รับการปกป้องจากสภาพอากาศที่เป็นอันตราย ผ่านระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อช่วยชีวิต ภายในสิ้นปี 2570(14)

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ว่าสามารถช่วยชีวิต ปกป้องทรัพย์สิน และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทว่าในปัจจุบันครึ่งหนึ่งของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า(15)

ที่ผ่านมา แม้ในภูมิภาคที่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าและแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพจากผลกระทบคลื่นความร้อนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก อย่างเช่นยุโรป ในปี 2565 ยังมีผู้เสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้นถึง 60,000 คน

ข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเตือนภัยล่วงหน้าด้านสุขภาพและแผนปฏิบัติการสำหรับรองรับสถานการณ์(16)

ในศตวรรษที่ 21 คลื่นความร้อนได้คืบคลานเข้ามาเป็นภัยใกล้ตัวของทุกคน จากหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้น ยาวนานขึ้น และรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อลดการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน ภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนสามารถมีส่วนร่วมโดยการตระหนักรู้ถึงปัญหา ศึกษาข้อมูล ติดตามข่าวสาร เตรียมความพร้อม  วางแผน และปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยเงียบที่มีความท้าทายนี้

อ้างอิง :

(1) The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)(2023). AR6 Synthesis Report: Climate Change 2023. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-cycle/

(2) The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies (2023). Public awareness and public education for disaster risk reduction – Extreme Heat / Heat Wave. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.ifrc.org/sites/default/files/2021-06/10-HEAT-WAVE-HR.pdf

(3) World Meteorological Organization (2023). Heat Wave. Retrieved Dec 23, 2023, from https://wmo.int/topics/heatwave

(4) Nature Medicine (2023). Heat-related mortality in Europe during the summer of 2022. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.nature.com/articles/s41591-023-02419-z#Sec8

(5) UN News (2023). Health risks on the rise as heatwave intensifies across Europe: WMO. Retrieved Dec 23, 2023, from https://news.un.org/en/story/2023/07/1138802

(6) (7) (9) VOX Media (2023). How heat waves form, and how climate change makes them worse. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.vox.com/22538401/texas-heat-wave-weather-definition-record-temperature-climate-change

(8) World Meteorological Organization (2023). Climate change and heatwaves. Retrieved Dec 23, 2023, from https://wmo.int/content/climate-change-and-heatwaves

(10) World Health Organization (2023). Heat and Health. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/climate-change-heat-and-health

(11) Andy Kiersz (2023). This heat wave is going to make you — and the rest of America — less productive, by as much as 28%. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.businessinsider.com/heat-wave-effects-on-economic-productivity-2019-7

(12) Nature Climate Change (2019). Marine heatwaves threaten global biodiversity and the provision of ecosystem services. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.nature.com/articles/s41558-019-0412-1

(13) Mercury rising (2021). The danger posed by heatwaves deserves to be taken more seriously. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.economist.com/leaders/2021/07/03/the-danger-posed-by-heatwaves-deserves-to-be-taken-more-seriously

(14) World Meteorological Organization (2023). WMO and the Early Warnings for All Initiative. Retrieved Dec 23, 2023, from https://public.wmo.int/en/earlywarningsforall

(15) UN News (2023). Early Warnings for All. Retrieved Dec 23, 2023, from https://www.un.org/en/climatechange/early-warnings-for-all

(16) World Meteorological Organization (2023). Heatwaves show importance of health early warnings and action plans. Retrieved Dec 23, 2023, from https://public-old.wmo.int/en/media/news/heatwaves-show-importance-of-health-early-warnings-and-action-plans

Copyright @2021 – All Right Reserved.